ประชาชนจะได้อะไรจากการมีกฎหมายวิชาชีพการสาธารณสุข



เรื่องที่เราควรรับรู้:

          บุคลากรสาธารณสุข และ/หรือ หมออนามัยเหล่านี้ได้ปฏิบัติงานโดยใช้องค์ความรู้และศิลปะในตนเองเพื่อทำหน้าที่ในการให้บริการแก่ประชาชนด้วยการใช้องค์ความรู้ ความสามารถในการให้บริการที่ได้มาจากการศึกษาเล่าเรียนมาจากสถาบันการศึกษาที่ราชการรับรอง รวมทั้งได้ปฏิบัติงานเพื่อชดเชยกับการที่บุคลากรทางด้านสุขภาพอื่นที่มีไม่เพียงพอต่อการให้บริการแก่ประชาชนในชุมชนและชนบทห่างไกล โดยปฏิบัติงานในขอบเขตที่กำหนดแทนแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ และกายภาพบำบัด ต่อเนื่องกันมากว่า 96 ปีแล้ว แต่กลับไม่มีกฎหมายรองรับการปฏิบัติงานในด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรค การรักษาพยาบาลเบื้องต้น และการฟื้นฟูสุขภาพของประชาชน นำมาสู่คำถามที่สำคัญว่า การผลักดันให้มีกฎหมายวิชาชีพเป็นการกระทำเพื่อตนเอง หรือประชาชน และบุคลากรเหล่านี้มีความเป็นวิชาชีพหรือไม่ ถ้าไม่มีเหตุใดรัฐบาลและกลุ่มวิชาชีพอื่นจึงปล่อยให้บุคคลเหล่านี้ให้บริการแก่ประชาชนมายาวนานจนมีการสั่งสมความเชี่ยวชาญและความผูกพันกับงานสาธารณสุขในชุมชนมาจนถึงทุกวันนี้ (รศ.ดร.สุรชาติ ณ หนองคาย: วารสารบริหารงานสาธารณสุข ฉบับที่ 2 ปีที่ 14 กรกฎาคม-ธันวาคม 2552) ซึ่งนำมาสู่ประเด็นพิจารณาสำคัญคือ
  1. ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงหรือไม่
 รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุดซึ่งกำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไว้ และเมื่อบัญญัติให้สิ่งใดเป็นสิทธิไว้ก็ต้องบัญญัติแนวนโยบายที่จะต้องคุ้มครองสิทธินั้นไว้ด้วย โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 80 (2) บัญญัติไว้ว่า ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาระบบสุขภาพที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ อันนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของประชาชน รวมทั้งจัดและส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เอกชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพและการจัดบริการสาธารณสุข โดยผู้มีหน้าที่ให้บริการดังกล่าวซึ่งได้ปฏิบัติงานหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

ดังนั้น การกระทำใดๆ ก็ตามที่จะสนับสนุนหรือส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและทั่วถึงจึงเป็นสิ่งจำเป็น ในขณะเดียวกันผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวก็ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายด้วยมิใช่ปล่อยให้กระทำการไปอย่างขาดการควบคุมจนประชาชนได้รับบริการที่ต่ำกว่ามาตรฐานและจริยธรรมวิชาชีพ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของ  ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ให้บริการสาธารณสุขทุกประเภทจึงพึงต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ รวมทั้ง  หมออนามัย หรือบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานีอนามัย หรือในชุมชนเหล่านี้ด้วย


  1. ความเป็นวิชาชีพมีคุณลักษณะอย่างไร

          เมื่อนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพในประเทศไทยมาประมวลแล้วสามารถสรุปหลักเกณฑ์สำคัญที่ตรงกันได้ว่าความเป็นวิชาชีพมีคุณลักษณะดังนี้
1.      มีความรู้ขั้นสูง หรือถ้าไม่มีแล้วจะปฏิบัติงานวิชาชีพนั้นๆ ไม่ได้
2.      เมื่อมีความรู้ตามข้อ 1. และมีคุณสมบัติตามที่กำหนดต้องมีการขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกเพื่อขอรับใบประกอบวิชาชีพ
3.      บรรดาสมาชิกในข้อ 2.เลือกผู้ขึ้นทะเบียนมาเป็นสภาหรือคณะกรรมการวิชาชีพ
4.      สภาหรือคณะกรรมการวิชาชีพควบคุมสมาชิกให้ปฏิบัติวิชาชีพในสองประเด็นใหญ่คือ การรักษามาตรฐานวิชาชีพ และจริยธรรมหรือจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ
5.      สมาชิกผู้ขึ้นทะเบียนที่ไม่รักษามาตรฐานวิชาชีพ และ/หรือจริยธรรม/จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพจะถูกลงโทษสูงสุด คือเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ
 
ดังนั้น การที่มีสภาวิชาชีพ หรือคณะกรรมการควบคุมวิชาชีพที่เข้มแข็ง (ไม่ช่วยเหลือกลุ่มตนเองจนขาดศรัทธาจากประชาชน) จะเป็นหลักประกันว่าประชาชนผู้รับบริการจะได้รับการให้บริการที่มีมาตรฐานและจริยธรรมวิชาชีพ การส่งเสริมให้มีการควบคุมมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรม จึงน่าจะเป็นผลดีมากกว่าปล่อยให้กระทำไปโดยขาดการควบคุมอย่างแท้จริง

  1. การมีกฎหมายจะทำให้มีความเป็นวิชาชีพหรือไม่

สาระสำคัญของกฎหมายในการควบคุมวิชาชีพ เน้นที่การมีมาตรฐานและจริยธรรม/จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ แต่การผลักดันให้มีบทบัญญัติของกฎหมายรับรองความเป็นวิชาชีพก็มิได้หมายความว่า จะทำให้เกิดมาตรฐานและจริยธรรมวิชาชีพขึ้นมาเพียงข้ามวัน  แต่ต้องเกิดจากการพัฒนาองค์ความรู้เป็นการเฉพาะของกลุ่มตนเองจนสามารถระบุขอบเขต หรืออาณาจักรที่เป็นอิสระเชิงวิชาการ จนสามารถกระทำการให้บริการในสาขาที่ตนเองมีความรู้เป็นการเฉพาะนั้นได้ จนสามารถแสดงให้เห็นว่า บุคคลใดก็ตามผู้ที่ยังไม่มีความรู้อันเป็นความรู้เฉพาะเหล่านี้ย่อมไม่สามารถปฏิบัติงานนั้นได้อย่างมีมาตรฐานและจริยธรรม/จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเท่ากับผู้มีความรู้ที่ได้รับการศึกษาอบรม โดยประเด็นสำคัญที่บ่งชี้ว่าบุคคลใดมีความเป็นวิชาชีพหรือไม่ อาจพิจารณาจากการที่บุคคลเหล่านั้นมีความรู้ความสามารถจนถึงขั้นประยุกต์ใช้ความรู้ที่มีได้อย่างเหมาะสม หรือการมีศิลปะในการทำงานนั้นได้ด้วยตนเอง โดยมิต้องอยู่ภายใต้การกำกับควบคุม หรือสั่งการจากบุคคลอื่น ซึ่งในปัจจุบันโดยพฤตินัยแล้วระบบได้ปล่อยให้บุคลากรเหล่านี้กระทำโดยอิสระในการให้บริการอยู่แล้ว และอาจกล่าวได้ว่ามีการควบคุมจำกัด หากบุคคลเหล่านี้ไม่มีความเป็นวิชาชีพก็อาจหมายถึงการที่ประชาชนไม่ได้รับบริการที่มีมาตรฐานตามไปด้วย

  1. การก้าวล่วงเข้าไปประกอบวิชาชีพอื่นถือว่าผิดกฎหมาย

กฎหมายจะบัญญัติไว้ว่า ผู้ประกอบวิชาชีพใดจะประกอบวิชาชีพนั้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการขึ้นทะเบียนและมีใบประกอบวิชาชีพ  ผู้ไม่มีใบประกอบวิชาชีพจะกระทำมิได้ หากฝ่าฝืนถือว่ามีความผิดต้องได้รับโทษทางอาญาถึงจำคุก (ซึ่งในทางปฏิบัติบุคลากรสาธารณสุขเหล่านี้ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ) การที่มีบทลงโทษเช่นนี้ก็เพื่อคุ้มครองประชาชนมิให้ได้รับการประกอบวิชาชีพที่ต่ำกว่ามาตรฐานและไม่รักษาจริยธรรม/จรรณาบรรณวิชาชีพ ดังนั้น การที่อนุญาตหรืออนุโลมให้บุคลากรเหล่านี้ให้บริการสาธารณสุขก้าวล่วงเข้าไปในอาณาจักรของวิชาชีพอื่นในระดับหนึ่งได้ จึงถือว่าได้รับความไว้วางใจให้กระทำการประกอบวิชาชีพได้ และยังไม่ปรากฏว่าวิชาชีพใดมาร้องคัดค้านความไม่มีมาตรฐานและจริยธรรมวิชาชีพแต่อย่างใด แต่ครั้นเมื่อมีการผลักดันให้มีกฎหมายมารองรับความเป็นวิชาชีพกลับได้รับการต่อต้าน

จากข้อมูลบางส่วนข้างต้น อาจสรุปได้ว่าบุคลากรผู้ปฏิบัติงานให้บริการสาธารณสุขในสถานีอนามัยและในชุมชนได้กระทำการประกอบวิชาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายจึงมีการกำหนดว่า การให้บริการสาธารณสุขของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในชุมชนให้ถือว่าอยู่ภายใต้ใบประกอบวิชาชีพของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด หรือแพทย์ผู้ได้รับมอบหมาย แต่ในทางปฏิบัติการที่บุคลากรสาธารณสุขผู้ไม่มีใบประกอบวิชาชีพได้ก้าวล่วงเข้าไปรักษาพยาบาลเบื้องต้น และดำเนินการบางอย่างที่ทับซ้อนเข้าไปในสาขาวิชาชีพอื่นๆ แก่ประชาชนในชุมชนโดยอิสระ อาจถือเป็นการประกอบวิชาชีพด้วยศิลปะด้วยตนเองตามที่มีการแถลงการณ์ และได้ดำเนินการต่อเนื่องมาแล้วกว่า 96 ปี ซึ่งอาจจะต้องเป็นเช่นนี้ต่อไปจนกว่าจะมีแพทย์และบุคลากรอื่นอย่างเพียงพอ หากการดำเนินการเหล่านี้ต่ำกว่ามาตรฐานและขาดจริยธรรมวิชาชีพ แม้จะมีกฎระเบียบว่าอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ย่อมหมายความว่าประชาชนได้รับบริการที่ต่ำกว่าสิทธิที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาอย่างยาวนาน จึงน่าจะถึงเวลาที่สมควรที่จะคุ้มครองสิทธิของประชาชนในเรื่องนี้โดยสถาบันการศึกษาผู้ผลิตพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นการเฉพาะสำหรับการปฏิบัติงานส่งเสริมสุขภาพ (ลดบทบาทบางด้านที่กลุ่มวิชาชีพอื่นเห็นว่า ก้าวล่วงการประกอบวิชาชีพของกลุ่มตนลง แต่ต้องให้ประชาชนยังคงได้รับบริการที่ไม่ต่ำไปกว่าเดิมที่เคยได้รับจากบุคลากรผู้ไร้วิชาชีพรองรับ) การพัฒนาองค์ความรู้พึงกระทำควบคู่ไปกับการตรากฎหมายออกมารองรับความเป็นวิชาชีพ ทั้งนี้เพื่อเป็นการกำกับควบคุมมาตรฐานและจริยธรรมของบุคลากรเหล่านี้

สรุป

อาจกล่าวสรุปในเบื้องต้นได้ว่า ถ้าหมออนามัย หรือบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในสถานีอนามัยและสถานบริการสาธารณสุขอื่นๆ มีความเป็นวิชาชีพและมีกฎหมายรับรองก็จะเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการได้รับบริการสาธารณสุข และเป็นการป้องกันบุคคลผู้ไม่มีมาตรฐานและจริยธรรมวิชาชีพออกจากชุมชน ผลดีน่าจะเกิดกับประชาชนมากกว่าผลเสีย ในมุมกลับกันบุคลากรสาธารณสุขเหล่านี้กลับต้องพัฒนาสมรรถนะในการประกอบวิชาชีพ และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมที่มีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นการสมควรที่จะมีการพัฒนาความเป็นวิชาชีพของบุคลากรสาธารณสุขโดยการพัฒนาองค์ความรู้และการตรากฎหมายควบคู่กันไป ทั้งนี้เพื่อการได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงของประชาชนตามสิทธิที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ความคิดเห็น