ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ

 ระบบบริการสุขภาพ และการประกันคุณภาพ

แนวคิดการจัดบริการสุขภาพ ควรเป็นการจัดบริการสุขภาพที่มีความครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพการป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสภาพ โดนรวมถึงทั้งบริการที่จัดโดยบุคลากรทางด้านสุขภาพ (Professional Care) และบริการที่จัดโดยบุคคล ครอบครัว และชุมชน (Non –Professional Care) การจัดระบบบริการสุขภาพควรมีความเหมาะสม สอดคล้องกับความจำหรือความต้องการ และสภาพปัญหาทางด้านสุขภาพของประชากรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการบริการการจัดระบบบริการสุขภาพควรเริ่มด้วยการกำหนดความจำเป็นความต้องการตลอดจนสภาพปัญหาที่สำคัญทางด้านสุขภาพที่ต้องการหรือมุ่งเน้นที่จะดำเนินการแก้ไขหลังจากนั้นจึงทำการออกแบบระบบบริการสุขภาพรวมทั้งการดูแลทางด้านสาธารณสุขที่เหมาะสมซึ่งรูปแบบการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสภาพที่มีความเป็นไปได้ มีทั้งรูปแบบการดูแลตนเอง การจัดบริการในสถานพยาบาลรูปแบบต่าง ๆ เช่น สถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชน คลินิก  โรงพยาบาลเป็นต้น รวมทั้งการออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ในรูปแบบต่าง ๆ

โครงสร้างระบบบริการสุขภาพ และระบบส่งต่อ

ระบบบริการสุขภาพที่พึงประสงค์ควรเป็นระบบบริการสุขภาพแบบบูรณาการ (Integrated Health Care System) ที่มีหลักการและคุณสมบัติสำคัญคือ ให้บริการที่ครอบคลุมทั้งคุณภาพเชิงสังคมและเชิงเทคนิคบริการและครอบคลุมบริการที่จำเป็นทั้งหมด ไม่มีความซ้ำซ้อนของบทบาทสภานพยาบาลในระดับต่างๆ มีความเชื่อมโยงระหว่างสถานพยาบาลแต่ละระดับ เป็นการเชื่อมโยงทั้งการส่งต่อผู้ป่วยและข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผู้ป่วย โครงสร้างระบบสุขภาพมีองค์ประกอบที่สำคัญ ประกอบด้วยบริการปฐมภูมิ บริการทุติยภูมิ บริการตติยภูมิ บริการระดับศูนย์การแพทย์เฉพาะทางและระบบส่งต่อ นอกจากนี้ยังควรมีระบบสนับสนุนที่สำคัญได้แก่ ระบบสนับสนุนทรัพยากร ระบบสนับสนุนวิชาการและการวิจัย และระบบข้อมูล
ข่าวสาร

การบริการปฐมภูมิ (Primary Care) เป็นบริการที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนและชุมชนมากที่สุด จึงเน้นที่ความครอบคลุม มีการบริการผสมผสาน ทั้งในด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันควบคุมโรค ฟื้นฟูสภาพ จัดบริการปฐมภูมิในเขตพื้นที่ชนบท สถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชน สำหรับในเขตเมืองอาจเป็น ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครหรือศูนย์แพทย์ชุมชน

การบริการทุติยถูมิ (Secondary Care) เป็นบริการที่ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในระดับที่สูงขึ้น เน้นการบริการรักษาพยาบาลโรคที่ยาก ซับซ้อนมากขึ้น ได้แก่ โรงพยาบาลชุมชนในระดับอำเภอ โรงพยาบาลทั่วไปในระดับจังหวัด และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหม

การบริการตติยภูมิ และศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง (Tertiary Care and Excellent Center) เป็นการบริการที่ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง มีความสลับซับซ้อนมาก มีบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาเฉพาะทาง สังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นโรงพยาบาลศูนย์ สถาบันเฉพาะทางต่างๆ หรือหรือสังกัดมหาวิทยาลัย เช่น โรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์ระบบส่งต่อผู้ป่วย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บัญญัติว่า รัฐต้องจัดและส่งเสริมการสาธารณสุขให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง กระทรวงสาธารณสุข ใช้นโยบาย 3 ประการ คือ

1. การพัฒนาคุณภาพของสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ

2. กรสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนทุกคน

3. ระบบส่งต่อและเครือข่ายสถานบริการสาธารณสุข

เป้าประสงค์ของการจัดระบบบริการสุขภาพ

การจัดระบบบริการสุขภาพที่พึงประสงค์ควรมีหลักการและเป้าหมายที่สำคัญคือ มีความเป็นธรรม มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล เป็นระบบบริการที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไป มีลักษณะเป็นการบริการที่ผสมผสาน มีความต่อเนื่อง มีความครอบคลุมเข้าถึงได้ มีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้รับบริการและชุมชน ทำให้เกิดความพึงพอใจ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

แนวคิดและหลักการของการดูแลตนเองและบริการสุขภาพในชุมชน

การดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัวและบริการสุขภาพในชุมชนมีพัฒนาที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ การพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ โดยในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศนั้น ประชาชนส่วนใหญ่มีความจำเป็นต้องพึ่งตนเอง ครอบครัว และชุมชนในการดูแลสุขภาพของตนเองและอาศัยภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่นในการให้บริการทางด้านสุขภาพ โดยช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีความก้าวหน้าทันสมัยมากขึ้น จึงมีการอาศัยพึ่งพิงระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขในสถานพยาบาลแบบตะวันตกมากขึ้นเป็นลำดับ แต่จากการเปลี่ยนแปลงในด้านแนวโน้มวิทยาการระบาดที่มีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสุขภาพสภาพแวดล้อม และความเสื่อมสภาพตามอายุขัยมากขึ้น อีกทั้งค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะบริการในสถานพยาบาลที่ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีราคาแพง ทำให้มีความจำเป็นต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีการดูแลสุขภาพตนเองมากยิ่งขึ้น โดยมุ้งเน้นการสร้างสุขภาพมากกว่ารอซ่อมสุขภาพ และสามารถใช้การดำเนินงานตามแนวทางสาธารณสุขมูลฐานโดยส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานและมีความสามารถดูแลสุขภาพตนเองและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในหมู่บ้านหรือชุมชนของตนได้ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ให้การช่วยเหลือสนับสนุนเพื่อให้ชุมชน
สามารถพึ่งตนเองในด้านสุขภาพได้

การสาธารณสุขมูลฐาน หมายถึง บริการสาธารณสุขอันจำเป็นแก่การดำรงชีวิตของมนุษย์ที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์สอดคล้องกับความเป็นอยู่และเป็นที่ยอมรับของสังคม เข้าถึงชุมชน ครอบครัว และตัวบุคคล โดยชุมชนได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และสามารถทำนุบำรุงให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงตามหลักการพึ่งตนเองและตัดสินใจได้ด้วยตนเองยังมีการบริการสุขภาพที่หน่วยบริการจัดขึ้นในชุมชน

1. การดูแลและบริการสุขภาพที่บ้าน

2. การจัดหน่วยบริการสุขภาพ บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่

แนวคิดและวิธีการจัดบริการสุขภาพในสถานพยาบาล

การจัดบริการสุขภาพในสถานพยาบาลสามารถแบ่งออกได้ตามประเภท ลักษณะ ระดับของสถานพยาบาล หรือการบริการที่จัดให้มีขึ้น ทั้งนี้หากแบ่งตามระดับของการให้บริการและระดับของสถานพยาบาล คือ บริการสุขภาพในสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ บริการสุขภาพในสถานพยาบาลระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ (บริการในโรงพยาบาล)บริการสุขภาพในสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ

ลักษณะสำคัญของระบบบริการปฐมภูมิที่ดี

- เป็นด่านแรกที่ประชาชนเข้าถึงบริการสะดวก ดูแลสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มอายุ และทุกกลุ่มโรคตามมาตรฐาน

- เป็นบริการที่รับผิดชอบดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนป่วย จนถึงขณะป่วย ตั้งแต่เกิดจนตาย

- เป็นบริการที่ดูแลประชาชนอย่างผสมผสาน คำนึงถึงปัจจัยทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง

- เป็นหน่วยที่ทำหน้าที่ส่งต่อ และประสานเชื่อมต่อการบริการอื่นๆ ทั้งด้านการแพทย์ ด้านสังคม

บริการที่ควรมีในหน่วยบริการปฐมภูมิ

- ด้านการรักษาพยาบาล

- ด้านการส่งเสริมสุขภาพ

- ด้านการฟื้นฟูสภาพพื้นฐานครอบคลุมการฟื้นฟูสภาพทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ ตลอดจนการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก

- ด้านการป้องกันและควบคุม โรคในระดับบุคคล และครอบครัว ได้แก่ การให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรค การค้นหาผู้ป่วย เฝ้าระวัง

- ด้านการสนับสนุนการพึ่งตนเองของประชาชน องค์กรประชาชนและชุมชน ด้านสุขภาพ

- ด้านการบริการด้านยา ตั้งแต่การจัดหายา การจ่ายยา และการให้ความรู้ด้านยา

บริการสุขภาพในสถานพยาบาลระดับทุติยภูมิ และตติยภูมิ

ลักษณะสำคัญของบริการสุขภาพในสถานพยาบาลระดับทุติยภูมิ และตติยภูมิ คือให้บริการทางการแพทย์ที่มีความซับซ้อนได้อย่างมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดบริการมาตรฐานขั้นต่ำที่ต้องมีในสถานพยาบาลระดับทุติยภูมิ และตติยภูมิ (โรงพยาบาล) มาตรฐานทั่วไป

- มีอาคารสถานที่ อุปกรณ์ที่เหมาะสมในการบริการทางการแพทย์ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่ชุมชน

- มีเจ้าหน้าที่เพียงพอทั้งในด้านจำนวนและคุณภาพ แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และมีไม่น้อยกว่าที่กำหนดในพระราชบัญญัติสถานพยาบาลบริการมาตรฐานขั้นต่ำของโรงพยาบาล

- บริการผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน มีความพร้อมในเรื่องเครื่องมือ บุคลากร รถพยาบาลรับส่งผู้ป่วยหนัก โดยมีแพทย์พร้อมให้บริการอย่างน้อย 1 คน และพยาบาล 2 คน ตลอด 24 ชั่วโมง

- บริการผู้ป่วยนอก มีอาคารสถานที่เหมาะสม สะดวกสำหรับผู้รับบริการมีการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่รอนานเกินไป

- บริการผู้ป่วยใน มีอาคารผู้ป่วยและอุปกรณ์ประจำตึกพร้อมให้บริการ มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสม แพทย์ และพยาบาลวิชาชีพ อย่างน้อง 1 คนต่อ 30 เตียง และพนักงานผู้ช่วยเหลือคนไข้ 1 คนต่อ 10 เตียง

- บริการเวชทะเบียน

- บริการรังสีวิทยา

- บริการตรวจทางพยาธิวิทยาและการชันสูตร

- บริการเภสัชกรรม

- บริการศัลยกรรมทั่วไป ห้องผ่าตัดมีอย่างน้อย 1 ห้องต่อ 50 เตียง และไม่น้อยกว่า 2 ห้อง ไม่นับรวมห้องคลอด

- บริการวิสัญญี

แนวคิดและวิธีการจัดบริการแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้านไทย และแพทย์ทางเลือก

ระบบบริการสุขภาพที่พึงประสงค์ของประเทศไทย ควรเป็นระบบบริการแบบพหุลักษณ์ กล่าวคือเป็นการผสมผสานทั้งการแพทย์กระแสหลักคือ การแพทย์ตะวันตก โดยที่ไม่ละเลยทอดทิ้ง การผสมผสานองค์ความรู้ ภูมิปัญญาทั้งที่มีอยู่เดิมในท้องถิ่น และจากต่างประเทศ ได้แก่ การบริการแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้านไทย และแพทย์ทางเลือกเข้าร่วมจัดบริการและให้การดูแลทางด้านสุขภาพให้แก่ประชาชน รูปแบบวิธีการจัดบริการแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้านไทย และแพทย์ทางเลือกหมายรวมถึงบริการและการดูแลสุขภาพทั้งโดยกลุ่มวิชาชีพที่ทำหน้าที่ให้บริการ หรือใช้ความรู้ความสามารถตามวิชาชีพของตนเอง และการดูแลตนเองในครอบครัว ชุมชน และการบริการในสถานบริการภาครัฐและเอกชน

ขอบเขตของการบริการแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน และแพทย์ทางเลือก

การบริการแพทย์แผนไทย ได้แก่ บริการและดูแลสุขภาพที่ใช้องค์งามรู้แพทย์แผนไทยคือ เวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย นวดแผนไทย ผดุงครรภ์ไทย บริการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผสมระหว่างองค์ความรู้แพทย์แผนไทย และความรู้ทางแพทย์แผนตะวันตก

การบริการแพทย์พื้นบ้านไทย ได้แก่ บริการและการดูแลสุขภาพที่ใช้ความรู้ที่มีการสืบทอดกันภายในครอบครัวหรือชุมชนโดยหมอพื้นบ้าน หมอนวดพื้นบ้าน ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นหรือภูมิภาค

การบริการแพทย์ทางเลือก ได้แก่บริการและดูแลสุขภาพโดยใช้ศาสตร์หรือความรู้จากแหล่งอื่นๆ เช่น แพทย์แผนจีน อินเดีย

หลักการและแนวคิดการประกันคุณภาพบริการสุขภาพ

การประกันคุณภาพบริการสุขภาพควรเป็นทั้งระบบการพัฒนาการทำงาน พัฒนาวิชาการ พัฒนาคน พัฒนาจริยธรรม เพิ่มประสิทธิภาพและความเป็นธรรม และเป็นระบบการคุ้มครองผู้บริโภคไปพร้อมๆ กันด้วยจึงต้องมีระบบการควบคุมคุณภาพที่ครอบคลุม โดยจัดให้มีระบบพัฒนาและรับรองคุณภาพสถานบริการด้านสุขภาพทุกระดับของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ในลักษณะบังคับเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จัดกลไก โดยตั้งองค์กรอิสระ ทำหน้าที่ ประเมินตรวจสอบ และรับรองคุณภาพสถานบริการอย่างต่อเนื่องและโปร่งใส กำหนดมาตรฐานคุณภาพสถานบริการในทุกระดับ ให้
มีคุณภาพเท่าเทียมกันเป็นมาตรฐานของไทย โดยคำนึงถึงมิติความเชื่อ มิติทางวัฒนธรรมด้วย

คุณภาพ (Quality) หมายถึง คุณลักษณะของผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบสนองต่อข้อกำหนดของลูกค้า

มาตรฐาน หมายถึง สิ่งที่ยึดถือเป็นหลักสำหรับเทียบกำหนด

มาตรฐานบริการสาธารณสุข หมายถึง มาตรฐานซึ่งกำหนดลักษณะพึงประสงค์ของผลลัพท์ของการให้บริการสาธารณสุขที่ส่งมอบให้แก่ประชาชนผู้รับบริการ

การประกันคุณภาพ (Quality Assurance) หมายถึง การบริหารคุณภาพที่ทำให้มั่นใจว่า จะบรรลุข้อกำหนดทางด้านคุณภาพได้

เทคโนโลยีเฉพาะทาง(Intrinsic Technology) หมายถึง ความรู้ความเข้าใจ หรือทักษะเฉพาะทางหรือเฉพาะวิชาชีพของ

บุคลากร ซึ่งจะต้องมีอยู่อย่างสมบูรณ์พร้อมเป็นปกติในการปฏิบัติงานเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด

ปัจจัยคุณภาพ (Quality Factor) หมายถึง ปัจจัยที่ทำให้เกิดคุณภาพได้ ซึ่งหากขาดเสียซึ่งปัจจัยดังกล่าวแล้ว ย่อมไม่เกิดคุณภาพ

ปัจจัยคุณภาพบริการสาธารณสุข เช่น

- สถานที่ที่ดี

- เครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ที่ดี

- สิ่งของวัสดุที่ดี รวมถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องครบถ้วน ที่ต้องจัดเตรียมไว้

- คุณสมบัติ คุณลักษณะ และบุคลิกที่ดีของผู้ปฏิบัติงาน

- วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง

- อากัปกริยาที่น่าประทับใจ

- ความรู้ความเข้าใจที่ดีพอของผู้รับบริการและผู้ที่เกี่ยวข้อง

รูปแบบวิธีการประกันคุณภาพบริการสุขภาพของประเทศไทย

รูปแบบวิธีการประกันคุณภาพบริการสุขภาพซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันมีหลายรูปแบบวิธีการ ได้แก่ระบบ ISO ระบบมาตรฐาน

บริการสาธารณสุข ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ระบบการพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลระบบการพัฒนาและรับรองคุณภาพสถานีอนามัย ระบบการพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งสนับสนุนโดยกรมอนามัย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบบพัฒนาและรับรองคุณภาพเครือข่ายสถานพยาบาล ซึ่งควรประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมตามวัตถุประสงค์ บริบท สภาพแวดล้อม และระดับของการบริการ

manasu

ความคิดเห็น

  1. การที่จะจัดตั้งศูนย์หนึ่งในชุมชน ท่านจะจัดรูปแบบในการจัดบริการอย่างไร

    ตอบลบ
  2. ขอเสนอให้ การตวจคัดกรองในชั้นต้นที่คนใข้บัตรทองใน ร พ ต่างๆ ถือว่าเป็นการคัดกรองปฐมภูมิแล้ว เทื่อจะขอเข้ารับการรักษาต่อไปในิิ ร พ ส่งต่อตามสิทธิยัตรทอง ิครใข้ม่ต้องมาเริ่มใหม่ ที่ศูนย์อนามัย(ปฐมภูมิ)ในเมื่อมีใบส่งตัวจาก ร พ ขั้นต้นแล้ว เพราะิ ร พ ส่งต่อ ทุติยภูมิิตรสบสอบได้จาก computer เพื่อยืนยันสิทธิบัตรทอง เข้ารักษา

    ตอบลบ
  3. ใน หน่วยงานผู้ให้บริการ เราก็อยากเห็น ภาพกระบวนการให้บริการภาครัฐ เป็นแนวทางที่ ประชาชน มีความสะดวกขั้นตอนน้อยครับ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น