ระบบสุขภาพชุมชน

ระบบสุขภาพชุมชน
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์
เลขาธิการมูลนิธิสาธาณณสุขแห่งชาติ (มสช.)

เมื่อปี 2544 ท่านอาจารย์หมอจรัส สุวรรณเวลา (ปัจจุบันเป็นนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
เคยเสนอว่า ประเทศไทยควรจะร่วมกันสร้างระบบสุขภาพพอเพียง เพราะท่านเห็นว่า
คนไทยกำลังหลงทางในเรื่องสุขภาพ เหมือนที่เราอาจจะหลงทางในทางเศรษฐกิจ
หลงทางเรื่องสุขภาพในแง่ที่ไปฝากความหวังไว้กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยขาดการพินิจพิเคราะห์
ขาดความรู้เท่าทัน กลายเป็นการสร้างระบบที่ใช้เงินไปกับเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างไม่คุ้มค่า แถมยังเกิด
อันตรายต่อสุขภาพโดยไม่รู้ตัว
ถ้าเราหลงทางอาจจะไปเป็นแบบอเมริกา ที่ทุกวันนี้ใช้เงินมากมายถึง 14% ของรายได้ประชาชาติ
ไปกับเรื่องสุขภาพ แต่ประชาชนก็ยังย่ำแย่ โดยเฉพาะคนที่ตกงาน จะจนก็ไม่จน (ถ้าจนเข้าข่าย รัฐบาล
ดูแลให้รักษาฟรี) จะมีรายได้สูงก็ไม่ใช่ หรือถึงมีรายได้สูงพอควร แถมมีประกันสุขภาพ แต่เจ็บป่วยรุนแรง
ก็พาหมดตัวได้ (เพราะระบบประกันครอบคลุมบางส่วน)
ในขณะที่คนทำธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทยา หรือธุรกิจโรงพยาบาล กลับกลายเป็นบริษัท
ยักษ์ใหญ่ กำไรมหาศาล
การที่รัฐบาลสร้างระบบประกันสุขภาพ เอาเงินภาษีอากรมาจ่ายโรงพยาบาลดูแลประชาชนที่เจ็บป่วย
โดยชาวบ้านไม่ต้องควักกระเป๋า ฟังดูน่าสนใจ แต่ความจริงก็คือไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าเราจะไม่เจอปัญหา
แบบอเมริกา
การทำให้ระบบสุขภาพไทยเป็นระบบสุขภาพพอเพียงที่ดูแลคนไทยให้มีสุขภาพดี โดยไม่ต้องใช้จ่าย
มากมาย ต้องทำสองด้านไปด้วยกัน
ด้านหนึ่งคือการวางโครงสร้าง และกติกาเพื่อจัดระบบการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนให้ดี
อีกด้านคือการทำให้ประชาชนมีสัมมาทิฏฐิเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ
วันนี้ขอพูดเรื่องแรกก่อน ส่วนเรื่องหลังมีคนช่วยกันทำอยู่บ้างเป็นเรื่องๆ จะหาโอกาสมอง เป็นระบบ
ในภายหลัง
เรื่องการวางโครงสร้าง และกติกาของระบบดูแลประชาชนของบ้านเรา ถือว่ามีการคิดและ ทำอย่างต่อเนื่อง
มาตามลำดับ ในทางดีขึ้นเรื่อยๆ ดีกว่าหลายประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน จนเป็นตัวอย่าง พูดกันไป
ทั่วโลก โดยเฉพาะที่เราสามารถจัดระบบประกันสุขภาพให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยใช้ภาษีอากร และจัดการ
โดยภาครัฐ แทนไปพึ่งการเก็บเบี้ยประกันและใช้บริษัทประกันเอกชนแถมยังสามารถ ให้ประชาชน ไปเลือก
ใช้บริการ ภาคเอกชนได้ ไม่ได้ใช้แต่หน่วยบริการของภาครัฐเท่านั้น
การมีระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่ได้เป็นเครื่องประกันว่า เราจะไม่หมดตัว หรือหลงทางแบบอเมริกา
ถ้าเราออกแบบระบบการจัดการกับเงิน และทรัพยากรอื่นๆที่มีอยู่ไม่ดีพอ น่าดีใจที่เรามีการเตรียมพร้อม
มาพอสมควร ก่อนเริ่มระบบหลักประกัน จึงไม่ได้ทำเพียงแค่เอาเงินภาษีอากรมา “รอจ่าย” ให้กับโรงพยาบาล
ไหนก็ได้ที่พร้อมจะเปิดบริการให้ประชาชน
สำนักงานหลักประกันสุขภาพ มีการกำหนดกติกาว่า โรงพยาบาลจะต้องทำอย่างไรบ้าง จึงจะได้รับเงิน
จากกองทุนประกันสุขภาพที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น
ที่สำคัญกว่านั้น ระบบหลักประกันสุขภาพของเราไม่ได้มีหน้าที่จ่ายเงิน เวลามีใครไปโรงพยาบาลเท่านั้น
แต่เราจ่ายเงินให้กับหน่วยบริการที่ไม่ใช่โรงพยาบาลด้วย และยังจ่ายเงิน เพื่อให้มีการทำงาน ดูแลสุขภาพ ใน
เชิงรุกด้วย แต่การจ่ายเงินเพื่อให้มีการทำงานเชิงรุกไม่ใช่เรื่องง่ายๆ โดยเฉพาะถ้า คนที่ทำงานคิดแต่จะทำงาน
เพื่อแลกเงิน
การทำงานเชิงรุก เพื่อดูแลให้คนมีสุขภาพดี ไม่มีสูตรตายตัว แต่ในทางตรงกันข้ามต้องการ ความคิด
สร้างสรรค์ และการทำงานจริงจัง อย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่แค่ทำงานครบตามจำนวนที่ตกลงกันไวในสัญญา
หรือทำให้มากเข้าไว้จะได้เบิกเงินคืนได้มากๆ
โชคดีที่ ระบบสุขภาพของไทยเรา มีการสะสมประสบการณ์ และสร้างคุณค่าในหมู่คนทำงานให้เข้าใจ
วิธีการทำงานเชิงรุกอยู่ตามสมควร โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานในชนบทตามสถานีอนามัย
และโรงพยาบาลชุมชน
แต่คนทำงานในเมืองใหญ่ และในภาคเอกชนเองยังไม่เข้าใจ หรือมีประสบการณ์เท่าที่ควร
หลังการมีระบบประกันสุขภาพ สิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายอยากให้เกิดขึ้นและเข้มแข็งมีคุณภาพ ก็คือ
หน่วยบริการที่สามารถทำงานเชิงรุกได้อย่างจริงจัง ทั่วทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือในชนบท
บทเรียนสำคัญยิ่งที่มาจากการทำงานในอดีต บอกเราว่า ถ้าจะทำให้สุขภาพคนไทยดี โดยไม่ต้องเสีย
สตางค์มากจนเกินไป ไม่หลงทางไปกับเทคโนโลยีทันสมัยอย่างไม่ลืมหูลืมตา คือการลงไปทำงานในชุมชน
ไม่ใช่รอให้ชาวบ้านเจ็บป่วยมาโรงพยาบาล หรือถึงเจ็บป่วยมีโรคแล้ว ก็ต้องพยายาม ให้เกิดการดูแลที่บ้าน หรือ ใน
ชุมชน ที่สำคัญคือต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
อีกด้านหนึ่งต้องจัดระบบให้หน่วยบริการใกล้บ้านส่งคนไข้ไปรับการดูแลในโรงพยาบาลที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉ
พาะด้านได้ ถ้ามีความจำเป็น
มีรูปธรรมอยู่มากในชนบท ที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงไปทำงานในหมู่บ้าน ลงไปทำงาน กับชาวบ้าน
ในหมู่บ้าน ในเขตเมืองเองก็มีความพยายามลงไปทำงานกับกลุ่มชาวบ้านในชุมชนแออัด
ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี เรียกการทำงานกับชุมชนเพื่อร่วมกันสร้างสุขภาพในเชิงรุกว่า การสร้างระบบ
สุขภาพชุมชน
เรื่องแบบนี้ไม่น่าตื่นเต้น เหมือนเวลาโรงพยาบาลผ่าตัดเปลี่ยนปอดเปลี่ยนหัวใจได้ หรือผ่าตัดแยกร่าง
เด็กเกิดใหม่ ตัวติดกัน หรือมีใครมาบอกว่า ใช้เสต็มเซลล์รักษาโรคหัวใจได้ แต่มันกลับมีความสำคัญ กับความ
เป็นความตาย ความยั่งยืนของระบบสุขภาพในระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ถ้าจะมีการทำงานเชิงโครงสร้าง หรือกำหนดกติกาใดๆว่าด้วยระบบสุขภาพไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง
งบประมาณการประกันสุขภาพ การพัฒนากำลังคน การกระจายอำนาจ ต้องมีเป้าหมายสร้างกติกา
และส่งเสริมให้เกิดระบบสุขภาพชุมชนที่เข้มแข็ง
ถ้าไม่ช่วยกันสร้างระบบสุขภาพชุมชนที่เข้มแข็งใช้แต่ระบบโรงพยาบาลที่คอยให้บริการเวลาชาวบ้านเจ็บ
ป่วยไม่สบายมาโรงพยาบาล ต่อให้รัฐบาลใจดีขนาดไหน หรือประเทศชาติร่ำรวยขนาดไหน ก็อาจจะแบกภาระ
ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพไม่ไหวอย่างที่ ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ ไม่เฉพาะแต่อเมริกา
ประเทศ เดียว
ตัวแปรสำคัญที่จะสร้างระบบสุขภาพชุมชน ความจริงก็มีการออกแบบ ไว้แล้วในโครงสร้าง
ระบบประกันสุขภาพไทย เรียกกันว่า หน่วยบริการปฐมภูมิ แต่ที่ผ่านมายังมี ความไม่ชัดเจนในรายละเอียดว่า
ทำยังไงหน่วยบริการปฐมภูมิจึงจะทำหน้าที่ของมันได้อย่างเข้มแข็งสมกับที่ออกแบบไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ
เป็นฐานสร้างระบบสุขภาพชุมชน และเป็นตัวกลางเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลระดับสูงขึ้น
หลายปีที่ผ่านมา เราจึงเห็นบางอำเภอในชนบททำได้ดี หรือบางตำบลทำได้ดี แต่ตำบลอื่นในอำเภอเดียวกัน
ทำไม่ได้ ทั้งที่อยู่ภายใต้การดูแลของ โรงพยาบาลชุมชนเดียวกันหรือในเขตเมือง ก็แทบจะไม่มีโครงสร้าง หรือ การ
ทำงาน เชิงรุกหรือการทำงานกับชุมชนแบบในชนบท
ที่น่าเป็นห่วงอีกส่วนหนึ่งคือกติกาในการให้งบประมาณสนับสนุนงานในส่วนนี้ ยังไม่ลงตัว ตั้งแต่ระดับ
สำนักงบประมาณไปจนถึงหน่วยรับสัญญาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพ
ผลจากการวิจัยโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขร่วมกับ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และสถาบันวิจัย
การคลังด้านสุขภาพ กับสถาบันวิจัยนโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สรุปว่า ต้องมีการปรับระบบการจัดการ
ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ และส่วนของกระทรวงสาธารณสุข รวมไปถึงสำนักงบประมาณด้วย
พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจ กับภาคเอกชน เพื่อให้เกิดเป็น “เครือข่าย” บริการปฐมภูมิ ไม่ใช่แค่หน่วยบริการปฐมภูมิ
ที่ต่างคนต่างทำงาน
น่าจะเป็นโอกาสดีที่ฝ่ายการเมืองดูจะมองเห็นประเด็นนี้ แม้จะใช้คำแปร่งๆไปบ้างอย่างคำว่า
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล ด้วยอยากให้ดูเท่ห์ และแตกต่าง และดูจะเน้นเฉพาะการปรับปรุง
หน่วยบริการระดับตำบล ไม่ได้มองเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ แต่โดยเป้าหมายน่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน
และเป็นการสร้างฐานของระบบสุขภาพชุมชนให้มั่นคงแข็งแรง สิ่งสำคัญที่จะต้องเชื่อมโยงมีอยู่อย่างน้อย
สามอย่าง
อย่างแรกคือ การเชื่อมโยงกับกลไกในระบบหลักประกันในแต่ละอำเภอ ที่เป็นคนรับเงิน มาจากสำนักงาน
หลักประกัน เพื่อดูแลสุขภาพของผู้คนในชุมชน
อย่างที่สองคือการเชื่อมโยงกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีบทบาทและทรัพยากร เพื่อทำงาน
สุขภาพตามภาระกิจที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งการเชื่อมโยงกับกลุ่มประชาสังคมในชุมชน และการ รู้จัก
ใช้อาสาสมัครสาธารณสุขอย่างสร้างสรรค์ (ไม่ใช่ทำงานแบบต่างตอบแทนโดยใช้เงินล่อ)
อย่างที่สาม คือการ เชื่อมโยงกับสถานบริการระดับที่สูงกว่า เพื่อให้เกิดระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่รวดเร็ว
มีคุณภาพ และมีการดูแลต่อเนื่อง
ที่ผ่านมาทุกคนรู้ดีว่า หน่วยบริการปฐมภูมิ ต้องมีการเชื่อมโยงทั้งสามส่วนนี้ แต่ความจริงดูเหมือน จะเชื่อม
ได้ไม่ครบทั้งสามส่วน แถมบางเรื่องยังดูท่าจะไปทำให้ระบบสุขภาพชุมชนอ่อนแอลง อย่างเรื่องการ กระจายอำนาจ
ด้วยการโอนสถานีอนามัยแยกๆกันเป็นแห่งๆ กับเรื่องกองทุนสุขภาพระดับตำบล แต่คงต้องยกยอดไปอาทิตย์หน้า
พูดถึงวิธีการทำให้การเชื่อมโยงทั้งสามส่วนนี้มีคุณภาพดีกว่าที่เป็นมา รวมทั้งการสร้าง เครือข่ายบริการปฐมภูมิ
ในเมืองใหญ่ โดยการใช้ภาคเอกชน.-
------------------------------------------

ความคิดเห็น