ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยบุคคลซึ่งทางราชการ เทศบาล สุขาภิบาล. หรือสภากาชาดไทยมอบหมายให้ประกอบโรคศิลปะ

ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข
ว่าด้วยบุคคลซึ่งทางราชการ เทศบาล สุขาภิบาล
หรือสภากาชาดไทยมอบหมายให้ประกอบโรคศิลปะ
ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้ขึ้นทะเบียน
และรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแล้ว
(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518
----------
     อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (ก) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2479  
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2504 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
     ข้อ 1 ให้ยกเลิกความใน (2) แห่งระเบียบกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2504   เรื่อง บุคคลซึ่งทางราชการ เทศบาล สุขาภิบาล หรือสภากาชาดไทยมอบหมายให้ประกอบโรคศิลปะในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแล้ว ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2504
     ข้อ 2 บุคคลซึ่งทางราชการ เทศบาล สุขาภิบาล หรือสภากาชาดไทยมอบหมายให้ประกอบโรคศิลปะ
ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ได้ คือ
          2.1 เจ้าหน้าที่ตำแหน่งอนามัยอำเภอ พนักงานอนามัย ผดุงครรภ์ (อนามัย) ผู้ช่วยพยาบาล  ผดุงครรภ์ และผู้ช่วยพยาบาล ให้กระทำได้เฉพาะที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้
             2.1.1 ด้านอายุกรรม
               1) โรคติดต่อตามโครงการของกระทรวงสาธารณสุข
               2) โรคขาดธาตุอาหาร
               3) โรคอาหารเป็นพิษ
               4) โรคพยาธิลำไส้
               5) โรคบิด
               6) โรคหวัด
               7) โรคหัด
               8) โรคสุกใส
               9) โรคคางทูม
              10) โรคไอกรน
              11) โรคผิวหนัง เช่น หิด เหา กลาก เกลื้อน และลมพิษ
              12) อาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
                   - ไข้
                   - อาการเจ็บปวด เช่น คอเจ็บ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว และปวดฟัน
                   - ปวดท้อง ท้องผูก ท้องอืด ท้องเดิน
                   - เบื่ออาหาร
                   - คลื่นไส้อาเจียน
                   - อ่อนเพลียใจสั่น
                   - การอักเสบ เช่น แผล ฝี
                   - ผื่นคัน
                   - ไอ หอบหืด
                   - ซีดเนื่องจากโลหิตจาง
              13) การปฏิบัติรักษาพยาบาลอื่น ๆ เช่น
                   - การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรครวมถึงการฉีดวัคซีนกันพิษสุนัขบ้า และการฉีด
                      เซรุ่มแก้พิษงู
                   - การให้น้ำเกลือในผู้ป่วยท้องเดินอย่างแรง
                   - เจาะดูดโลหิตเพื่อตรวจชันสูตร
          2.1.2 ด้านศัลยกรรม
               1) ผ่าฝี
               2) เย็บบาดแผลที่ไม่สาหัส
               3) ชะล้าง ตกแต่งบาดแผล
          2.1.3 ด้านสูติกรรม ให้เฉพาะผดุงครรภ์ (อนามัย) และผู้ช่วยพยาบาล-ผดุงครรภ์
กระทำได้ดังต่อไปนี้ คือ
               1) ตัดและเย็บฝีเย็บในการทำคลอดเมื่อมีความจำเป็น
               2) การใช้ยารัดมดลูก จะให้ได้ต่อเมื่อรกคลอดเสร็จเรียบร้อยแล้วเท่านั้น
               3) การกลับท่าเด็กภายนอก ( External Version )
               4) ใช้สเป็คคูลัม ( Speculum ) ตรวจปากมดลูกในการตรวจภายหลังคลอด และ
                   การติดตามผลการใช้ห่วงอนามัย
               5) การสวนปัสสาวะเกี่ยวกับการคลอดและหลังคลอด
          2.1.4 ด้านปัจจุบันพยาบาล
               1) การแก้สารมีพิษและสัตว์มีพิษกัดต่อย ตลอดจนการแพ้ยา เซรุ่มและวัคซีน
               2) การเสียโลหิตทั้งภายในและภายนอก
               3) การเป็นลม ช็อค หมดสติ
               4) กระดูกหัก ข้อเคล็ด ข้อเคลื่อน
               5) ชัก
               6) จมน้ำ ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ไฟฟ้าดูด
               7) การดูแลผู้ป่วยที่เจ็บหนัก
     2.2 เจ้าหน้าที่ตำแหน่งทันตาภิบาล ให้บริการด้านทันตกรรม ดังต่อไปนี้
          2.2.1 ถอนฟันถาวรและฟันน้ำนมโดยใช้ยาชาเฉพาะตำแหน่ง เฉพาะเด็กอายุไม่ต่ำกว่า
                 15 ปี
          2.2.2 อุดฟันด้วยวัตถุพลาสติก ทั้งในฟันถาวรและฟันน้ำนม เฉพาะเด็กอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี
          2.2.3 ขูดหินน้ำลายและทำความสะอาดฟัน
          2.2.4 ทาฟันด้วยน้ำยาฟลูออไรด์ เพื่อป้องกันฟันผุ
     2.3 เจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน
สาขาการพยาบาลและผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง ให้กระทำได้ทุกประการเหมือนเจ้าหน้าที่ตามข้อ 2.1 และให้
กระทำดังต่อไปนี้ได้อีกด้วย คือ
          2.3.1 ด้านอายุกรรม-ล้างกระเพาะอาหารโดยใช้สายยาง ในรายที่สงสัยว่ารับประทาน
                 ยาพิษ
          2.3.2 ด้านศัลยกรรม-ผ่าเอาสิ่งแปลกปลอมซึ่งอยู่ในตำแหน่งซึ่งไม่เป็นอันตรายต่ออวัยวะ
                 สำคัญของร่างกายออก โดยฉีดยาระงับความรู้สึกทางผิวหนัง
          2.3.3 ด้านสูติกรรม
               ก. ทำคลอดในรายที่มีครรภ์ผิดปกติหรือคลอดผิดปกติในกรณีที่จำเป็นแต่ห้ามมิให้ใช้คีม
                   สูงหรือทำการผ่าตัดในการทำคลอดหรือฉีดยารัดมดลูกก่อนคลอด
               ข. ช่วยเหลือในกรณีที่จะมีการแท้งหรือแท้งแล้วในรายที่จำเป็น
          2.3.4 ด้านการวางแผนครอบครัว-ใส่และถอดห่วงอนามัย
     2.4 เจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน
สาขาการพยาบาล ให้ปฏิบัติได้เหมือนกับเจ้าหน้าที่ตามข้อ 2.3 ยกเว้น 2.1.3 และ 2.3.3
     2.5 เจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน
สาขาผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง ให้ปฏิบัติได้เหมือนกับเจ้าหน้าที่ตามข้อ 2.3 ยกเว้น 2.3.1 และ 2.3.2
     2.6 อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านซึ่งได้ผ่านการอบรมและได้รับประกาศนียบัตรรับรอง
ความรู้ความสามารถจากกระทรวงสาธารณสุข และเป็นผู้ที่กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้สั่งเพิกถอนสิทธิใน
การเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ให้ประกอบโรคศิลปะและให้ยาได้ตามประกาศของกระทรวง
สาธารสุข
     2.7 เจ้าหน้าที่ผู้กระทำได้ตามข้อ 2.1 , 2.2 , 2.3 , 2.4 และ 2.5 ให้ใช้ยาตามบัญชียาที่กำหนด
ไว้ท้ายระเบียบนี้
     2.8 การประกอบโรคศิลปะนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้บังคับ
บัญชาซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแล้ว
ประกาศ ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518
อุดม โปษะกฤษณะ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข


บัญชียาท้ายระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วย บุคคลซึ่งทางราชการเทศบาล สุขาภิบาล หรือสภากาชาด
ไทยมอบหมายให้ประกอบโรคศิลปะในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับในอนุญาตเป็นผู้
ประกอบโรคศิลปะแล้ว (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2518
----------
 1. ยาสามัญประจำบ้าน ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข
 2. ยาที่ผู้บังคับบัญชาซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแล้ว สั่งให้บุคคลดังกล่าว
    เป็นผู้ให้แก่คนไข้เฉพาะรายและเฉพาะคราว
 3. ยาบางชนิด ดังต่อไปนี้
    3.1 ยาใช้ภายนอกและเฉพาะที่
         ให้ใช้ได้ทุกชนิด สำหรับยาจำพวกทำให้ชาเฉพาะแห่ง ให้ใช้ได้เฉพาะชนิดพ่น หรือทาเท่านั้น
    3.2 ยารับประทาน
         3.2.1 ยาจำพวกกระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบของมดลูกทุกชนิด และยาปรุงสำเร็จที่มียาเหล่านี้
                เฉพาะสตรีคลอดบุตรที่รกคลอดเสร็จเรียบร้อยแล้ว
         3.2.2 ยาคุมกำเนิดตามโครงการวางแผนครอบครัว
         3.2.3 ยากล่อมประสาทเฉพาะพวกเบนโซ ไดอาซิปิน เช่น ไดอาซีแพม และไดอาซิพอกไซด์
                และจำพวกบาบิตุเรตส์ เฉพาะฟีโนบาร์บิตาล และครอราลไฮเดรท
         3.2.4 ยาจำพวกแอนติฮิสตามีน
         3.2.5 ยาจำพวกซัลโฟนาไมด์ทุกชนิด และยาปรุงสำเร็จที่มียาเหล่านี้ ยกเว้นซัลฟานิลาไมด์
                และยาปรุงสำเร็จที่มียานี้
         3.2.6 ยาจำพวกปฏิชีวนะ เฉพาะกลุ่มเพนนิซิลลิน เตตราซัยคลิน สเตร็ปโตมัยซีน และยาปรุง
                สำเร็จที่มียาเหล่านี้
         3.2.7 ยาจำพวกซัลโฟนสำหรับรักษาโรคเรื้อนตามโครงการควบคุมโรคเรื้อน
         3.2.8 ยาจำพวกรักษาวัณโรค ตามโครงการควบคุมวัณโรค
         3.2.9 ยาจำพวกป้องกันและรักษามาลาเรีย ตามโครงการกำจัดไข้มาลาเรีย
        3.2.10 ยาจำพวกรักษาโรคบิด
        3.2.11 ยาจำพวกสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายทุกชนิด
        3.2.12 ยาแก้หืด ยกเว้นชนิดที่มีฮอร์โมนเป็นส่วนประกอบ
        3.2.13 ยาถ่ายพยาธิลำไส้
        3.2.14 ยาผสมชนิดน้ำ ( Stock Mixture ) ตามตำรับขององค์การเภสัชกรรมทุกชนิด
                และ/หรือตำรับที่ผู้บังคับบัญชาซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรค
                ศิลปะเห็นสมควร
     3.3 ยาฉีดเข้าใต้ผิวหนังและกล้ามเนื้อ
         3.3.1 ยากระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตและการหายใจ เฉพาะนีเคตาไมด์ (โครามีน)
                และเมตราโซล (คาร์ดิอาโซล)
         3.3.2 ยากระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตในรายหอบหืด เฉพาะแอดรีนาลินขนาด 1:1000
                ครั้งละไม่เกิน 0.5 ลบ. ซม.
         3.3.3 ยาจำพวกกระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบของมดลูกทุกชนิด เฉพาะสตรีคลอดบุตรที่รกคลอด
                เสร็จเรียบร้อยแล้ว
         3.3.4 ยาจำพวกแอนติฮิสตามีน
         3.3.5 ยาแก้ปวดท้องแบบโคลิก จำพวกแอนตี้สปาสโมดิก
         3.3.6 ยาจำพวกไวตามิน
         3.3.7 ยาชาเฉพาะทีสำหรับเจ้าหน้าที่ตามข้อ 2.3
         3.3.8 วัคซีนกันพิษสุนัขบ้า
         3.3.9 เซรุ่มแก้พิษงู
        3.3.10 ยาจำพวกสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายทุกชนิด
     3.4 ยาฉีดเข้าเส้นโลหิต เฉพาะในรายจำเป็น
         3.4.1 น้ำเกลือ หรือเด็กซโตร๊ส
         3.4.2 กลูโคส
                                ----------


ความคิดเห็น