เปิดความในใจประชาชนผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข‏

 วันที่ 2 มีนาคม  2554  "สารี อ๋องสมหวัง"  ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ได้ส่งบทความเรื่อง  ความในใจกลุ่มประชาชนผู้เสนอร่าง
พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข‏ ถึงสื่อมวลชน     บทความดังกล่าว
มีสาระสำคัญ ดังนี้

หลายคนคงได้ทราบข่าว ของคุณปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา
ที่ถูกให้ออกจากพื้นที่หน้ารัฐสภา หลังจากไปประท้วงด้วยการนอนค้างคืน
ร่วมกับเพื่อนผู้เสียหายหน้ารัฐสภา
เพื่อผลักดันให้รัฐบาลพิจารณากฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ภายใน
เดือนกุมภาพันธ์นี้

 กฎหมาย ฉบับนี้ เริ่มต้นเหมือนกับกระบวนการออกกฎหมายฉบับอื่น ๆ ของประเทศไทย
อาจจะพิเศษหน่อยตรงที่มีหลายกลุ่มที่เกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน
อาทิเช่น การตั้งคณะทำงานจากเพื่อยกร่างกฎหมาย
และการเสนอกฎหมายโดยกระทรวงสาธารณสุขผ่านคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการไปจัดทำรายละเอียดปรับปรุงกฎหมายในชั้นสำนักงาน
คณะกรรมการกฤษฎีกา
(ซึ่งมีทุกฝ่ายและแน่นอนตัวแทนแพทยสภาเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง)
มีการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มวิชาชีพประมาณ 300 คน ในสมัยรัฐมนตรีวิทยา
แก้วภารดัย แต่เมื่อกฎหมายกำลังจะถูกพิจารณารับหลักการในชั้นสภา ผู้แทนราษฎร
ได้ถูกคัดค้านจากแพทย์จำนวนหนึ่ง

กลุ่มผู้ที่คัดค้านกฎหมายฉบับนี้ หยิบยกประเด็นค้านไปเรื่อยๆ ตั้งแต่
จะทำให้มีการฟ้องคดีอาญาแพทย์มากขึ้น แต่เมื่อมีการอธิบายว่า
สาระที่เขียนไว้ในกฎหมายเป็นประโยชน์กับแพทย์ในคดีอาญา
ก็ยกประเด็นการไม่มีส่วนร่วมของกลุ่มต่าง ๆ ซึ่ง
น่าเสียดายที่ไม่มีใครเปิดเผยรายชื่อแพทยสภา หรือแพทย์จากส่วนต่าง ๆ
ที่เข้าร่วมประชุมในการทำกฎหมายฉบับนี้เป็นใครในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา (อาทิ
นพ.สมศักดิ์ เจริญชัยปิยะกุล, นพ.เมธี วงศ์ศิริวรรณ )

 และสุดท้ายประเด็นที่ “ขายได้” ในสังคมไทย คือ การปล่อยข่าวว่า
มีผู้เสนอกฎหมายจ้องหาผลประโยชน์ในการบริหารกองทุน
ทั้งที่กองทุนนี้อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข  และ
กรรมการเป็นเพียงกรรมการตามกฎหมายเหมือนกฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่ผ่านมา
ซึ่งต่างจากข้อเสนอของกลุ่มประชาชนผู้เสนอกฎหมายที่ต้องการให้มีการบริหารกองทุนเป็นอิสระดีกว่าอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข
เพราะกระทรวงเป็นเจ้าของโรงพยาบาลจำนวนมาก
จึงอาจจะทำให้ไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ได้รับผลกระทบและผู้เสียหาย

ข้อกล่าวหาเรื่องประชาชนผู้เสนอกฎหมายมีผลประโยชน์นอกจากจะไม่มีมูลแล้ว
หากติดตามการทำงานจะเห็นผลงานของกลุ่มนี้ที่ช่วยตรวจสอบการทุจริตในสังคมมากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม
หรือแม้แต่การเทียบประวัติการทำงานของแต่ละฝ่ายกับเรื่องการหาผลประโยชน์
ไม่แน่ใจว่า ผู้กล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวหากันแน่ที่ควรถูกตั้งข้อสงสัย
บางคนเป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขแต่มีชื่อไปปรากฏทำงานในโรงพยาบาลเอกชนในเวลาราชการ

เมื่อมีความเห็นต่างในกฎหมาย
ภาคประชาชนทุกฝ่ายซึ่งเดินหน้าเต็มที่เรื่องนี้ก็เห็นว่า
ก็ควรให้เวลาทำความเข้าใจกฎหมาย กระบวนการทำความเข้าใจ
มีหลายทางทั้งทางสาธารณะซึ่งเกิดขึ้นมาก ผ่านคณะทำงาน ไม่ยอมรับคณะทำงาน
ตั้งคณะทำงานใหม่ สุดท้ายได้ข้อสรุป 12 ประเด็นที่เห็นร่วมกัน
ทำให้แพทย์และกลุ่มวิชาชีพที่เกี่ยวข้องจำนวนมากหรือส่วนใหญ่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้
ซึ่งเห็นได้จากการคัดเลือกกรรมการแพทยสภา
ที่กลุ่มแกนนำคัดค้านอย่างหัวชนฝาไม่ได้รับการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม
น่าเสียดายที่เราไม่เห็นความกล้าหาญของผู้ประกอบวิชาชีพสายสาธารณสุขมากพอในการออกมาสนับสนุนทั้งที่เห็นประโยชน์
ยกเว้นผู้คัดค้านซึ่งไม่ฟังเหตุฟังผลอย่างคงเส้นคงวา
ไม่มีใครกล้าออกมาบอกว่าเห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้  เพราะ
หากใครออกมาบอกว่าเห็นด้วยก็จะโดนเล่นงานทั้งทางตรงทางอ้อมในที่ลับและในที่แจ้
ไม่เว้นแม้แต่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ถูกเล่นงานเรื่องส่วนตัว

ถึงแม้กลยุทธการถ่วงเวลากฎหมายของแพทย์กลุ่มหนึ่งจะประสบความสำเร็จในช่วงแรก
แต่ คิดว่า ปัจจุบันสังคมน่าจะได้เห็นถึงประโยชน์ของกฎหมายฉบับนี้
ที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ หรือทั้งระบบประกันสังคม
และสวัสดิการข้าราการ ที่ไม่มีระบบช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อมีความเสียหาย
กฎหมายฉบับนี้จึงจะทำหน้าที่เป็นระบบที่ช่วยรองรับผู้ได้รับผลกระทบ
หรือความผิดพลาดที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

 ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ยืนยันว่าอย่างไร พรรคประชาธิปัตย์
ไม่ถอนและเดินหน้ากฎหมายฉบับนี้แน่นอน คงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาล
และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลายต้องตัดสินใจสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้
เพราะทางกลุ่มคัดค้านมีกฎหมายเข้าชื่อ 10,000
รายชื่อในการเสนอกฎหมายฉบับนี้เช่นเดียวกัน
ซึ่งรับประกันการมีส่วนร่วมในการทำกฎหมายที่เท่าเทียมกับภาคประชาชน

 ในฐานะกลุ่มภาคประชาชนที่เสนอกฎหมายฉบับนี้ ขอเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎร
ตัดสินใจกฎหมายฉบับนี้ ว่าจะดำเนินการไปข้างหน้าหรือถอยหลัง
เพื่อบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานไทยในอนาคตที่อาจตกเป็นผู้ได้รับผลกระทบหรือเสียหายจากการบริการสาธารณสุข
แล้วจนถึงขณะนั้นยังไม่มีระบบเยียวยาใดๆ
หรือแม้แต่ผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความตั้งใจในการทำงานแต่ไม่มีระบบใดมาช่วยปกป้องพวกเขาจากความผิดพลาดซึ่งเป็นธรรมดาของมนุษย์

ความคิดเห็น