ก้าวทันความเคลื่อนไหวร่าง พรบ.วิชาชีพการสาธารณสุข


เกาะติดสถานการณ์....ก้าวทันความเคลื่อนไหว ร่าง พรบ.วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. ....


เรื่องเล่าที่คลาสสิก....ก่อนเข้าสู่ ค.ร.ม. และกฤษฎีกา
5  สิงหาคม 2552
 
ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 28 ท่าน นำโดยท่านนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม) มอบให้ ส.ส.นิภา  พริ้งศุลกะ เป็นผู้เสนอร่าง พรบ.วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. ....  ต่อประธานรัฐสภา (ขณะนี้รออยู่ในสภาผู้แทนราษฎร)
         
19 สิงหาคม 2552

เป็นวันประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่พวกเราควรจดจำ สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข และสมาชิก รวมทั้งพี่น้องสาธารณสุข ประมาณ 10,000 คน รวมพลครั้งใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นการรวมสมาชิกจากทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ เป็นครั้งที่ 5 เมื่อเสร็จสิ้นเวทีการประชุม 4 ภาค “95 ปี สถานีอนามัยทศวรรษใหม่แห่งการเปลี่ยนแปลง” เสนอร่าง พรบ.วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. .... มอบให้ ฯพณฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ณ บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา โดยมี สส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เดินทางลงมารับมอบ ร่าง พรบ.วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. .... ซึ่ง นายไพศาล บางชวด นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข เป็นตัวแทนพี่น้องชาวสาธารณสุข และหมออนามัยส่งมอบเสนอร่าง พรบ.ดังกล่าว

12 มกราคม 2553
 
กระทรวงสาธารณสุข โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายไพจิตร์ วราชิต และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ได้ทำหนังสือเชิญกรรมการบริหารสมาคมวิชาชีพสาธารณสุขเพื่อร่วมประชุมหารือ ร่วมกับผู้แทนองค์กรวิชาชีพทั้ง 6 สภาวิชาชีพ ที่แสดงเจตนาไม่เห็นด้วยกับการเสนอขอให้มี พรบ.วิชาชีพการสาธารณสุข พร้อมทั้งกระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือเพื่อยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร และเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวอ้างถึงกฎหมายที่ตกไปในสมัย สนช. และในครั้งนี้จะสนับสนุนการมี พรบ.วิชาชีพการสาธารณสุขขึ้นไปใหม่

บทสรุปที่ประชุม นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข นายไพศาล บางชวด ชี้ให้กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่า สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขรายงานต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ ขอให้ดำเนินการแก้ไขและตอบข้อหารือไปยังเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และประธานรัฐสภา โดยด่วน! และจะนัดกันรวมตัวเพื่อทวงถามหนังสือดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 18 มกราคม 2553

18 มกราคม 2553

เป็นวันประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ผลักดันกฎหมายวิชาชีพสาธารณสุขที่สำคัญอีกครั้ง สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข พร้อมด้วยสมาชิกพี่น้องชาวสาธารณสุข และองค์กรเครือข่ายสาธารณสุขต่างๆ ประกอบด้วย ผู้แทนชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย สมาคมหมออนามัย และชมรมสถานีอนามัยแห่งประเทศไทย รวมประมาณ 2,850 ชีวิต เดินทางมาทวงถามและติดตามหนังสือตอบข้อหารือของนายกรัฐมนตรี กับประธานรัฐสภา

เวลา 10.30 น. นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข นายไพศาล บางชวด ประกาศแถลงการณ์ยืนยันให้กระทรวงสาธารณสุขแสดงท่าทีและสนับสนุนการเสนอขอให้มีกฎหมายวิชาชีพการสาธารณสุข พร้อมทั้งเสนอให้มีการโยกย้ายรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายเสรี หงส์หยก เพราะขาดความจริงใจและจงใจรายงานข้อมูลอันเป็นเท็จต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร บ่งบอกเจตนาที่ไม่ต้องการสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีกฎหมายคุ้มครองความเป็นวิชาชีพ จากเหตุการณ์ครั้งนี้ บวกกับการให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนถึงความจำเป็นและความสำคัญของการเสนอขอให้มีกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พรบ.วิชาชีพการสาธารณสุข และ พรบ.การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแห่งชาติ (สื่อมวลชนตีพิมพ์เผยแพร่ข่าวเหตุการณ์นี้เกือบทุกฉบับ)

20 มกราคม 2553

พบกับวันประวัติศาสตร์ที่ควรจดจำไว้อีกเช่นกันในการผลักดันและขับเคลื่อนให้มี พรบ.วิชาชีพการสาธารณสุข อย่างต่อเนื่อง ชนิดที่เรียกกันว่า “กัดไม่ปล่อย” เหตุการณ์ทั้งหมดจึงเป็นที่มาให้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (คนปัจจุบัน) ประกาศนโยบายและทิศทางการดำเนินงานใน 10 เรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะข้อที่ 10 ที่กำหนดไว้ในนโยบาย คือ “ผลักดันและพัฒนากฎหมายให้เอื้อประโยชน์ต่อการสนับสนุนการดำเนินงาน โดยเฉพาะกฎหมายใหม่ เช่น พรบ.วิชาชีพการสาธารณสุข (มันควรเรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์การก่อตั้งกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่เคยมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาก่อน นับตั้งแต่อดีตที่มีสถานีอนามัยมาเกือบ 100 ปี อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอในยุคนี้ ประการที่สำคัญก็คืออย่าประมาทก็แล้วกัน อะไรที่คิดว่ามันไม่พลาด มันก็มีโอกาสพลาดกันได้เสมอ) พรบ.คุ้มครองความเสียหายจากการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยให้ความสำคัญทั้งผู้ให้บริการ และผู้รับบบริการ”

...เหตุการณ์ต่อเนื่อง

2 กุมภาพันธ์ 2553

สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข โดยการนำของนายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข นายไพศาล    บางชวด พร้อมด้วยทีมกรรมการบริหารของสมาคมฯ อาทิ นางทัศนีย์ บัวคำ อุปนายกสมาคมฯ นายสมบัติ ชูเถื่อน เลขาธิการสมาคมฯ นายอเนก ทิมทับ รองเลขาธิการสมาคมฯ และที่ปรึกษา ซึ่งมี รศ.ดร.สุรชาติ ณ หนองคาย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ นพ.พูนชัย จิตอนันตวิทยา รวมถึงสมาชิกสมาคมฯ และผู้แทนชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย และสมาคมหมออนามัย  นอกจากนี้ยังมีผู้บริหารของสถาบันการศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นต้น ได้เดินทางไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา เพื่อให้ทราบถึงเจตนารมณ์ หลักการ และเหตุผลการเสนอขอให้มีพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุขในครั้งนี้

3 กุมภาพันธ์ 2553

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต ยอมทำตามเงื่อนไขที่สมาคมวิชาชีพสาธารณสุขเรียกร้อง โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. .... คำสั่งเลขที่ 237/2553 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 โดยมี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ปัจจุบันเป็นหัวหน้าสำนักตรวจราชการกระทรวง ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ และมีองค์ประกอบของคณะกรรมการที่มาจากทุกองค์กรวิชาชีพ (รวม 6 สภาวิชาชีพ) องค์กรเครือข่ายสาธารณสุข อาทิ สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข ผู้แทนสถาบันการศึกษา ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย เป็นต้น พร้อมทั้งให้มีการทำหนังสือตอบข้อหารือและสนับสนุนการมี พรบ.วิชาชีพการสาธารณสุขไปยังเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และประธานรัฐสภา

25 กุมภาพันธ์ 2553

(ช่วงเช้า) พี่น้องชาวสาธารณสุข และ อสม. ได้พร้อมใจกันเข้าชื่อเสนอร่าง พรบ.วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. .... ในนามภาคประชาชน ประมาณ 20,000 รายชื่อ โดยมีองค์กรแกนนำหลักครั้งนี้คือ สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข ที่มีนายไพศาล บางชวด นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข พร้อมด้วยกรรมการบริหารและสมาชิก รวมทั้งผู้แทนสาธารณสุขอำเภอ และหมออนามัย  ร่วมกับตัวแทน อสม. ได้ส่งมอบบัญชีรายชื่อดังกลล่าวให้กับ ฯพณฯ นายชัย  ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ณ บริเวณห้องโถง อาคารรัฐสภา มีการตรวจสอบรายชื่อพร้อมบัญชีดังกล่าวครบถ้วนแล้ว ขณะนี้ร่าง พรบ.อยู่ในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

(ช่วงบ่าย) นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข นายไพศาล บางชวด พร้อมด้วยที่ปรึกษาสมาคมฯ รศ.ดร.สุรชาติ ณ หนองคาย, นายแพทย์พูนชัย จิตอนันตวิทยา และกรรมการบริหารสมาคมฯ เข้าชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นของการเสนอขอให้มีพรบ.วิชาชีพการสาธารณสุขในครั้งนี้ต่อคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร (มี ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน) คณะกรรมาธิการฯ ดังกล่าวต่างเห็นด้วยในการเสนอขอให้มีพรบ.วิชาชีพการสาธารณสุข แต่ก็มีข้อสังเกตหลายประการ

17 พฤษภาคม ต่อเนื่องถึง 22 มิถุนายน 2553

กระทรวงสาธารณสุข โดยการลงนามในหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 เพื่อแสดงเจตนารมณ์ หลักการและเหตุผลความจำเป็นในการเสนอขอให้มีพรบ.วิชาชีพการสาธารณสุข (ร่างฉบับกระทรวงสาธารณสุข) และนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2553 ที่ประชุมซึ่งมีนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ ที่นำเสนอโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และมีผู้แทนของกระทรวงสาธารณสุข คือ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ผู้ตรวจราชการกระทรวง ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมาย และคุณทัศนีย์ บัวคำ อุปนายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข ร่วมให้ข้อมูลเพิ่มเติมในการชี้แจงต่อ ครม. แต่ยังมีหลายหน่วยงานที่ตั้งข้อสังเกตไว้ และมีบางหน่วยงานที่ไม่เห็นด้วยกับการมีพรบ.วิชาชีพการสาธารณสุข อาทิ สำนักงาน ก.พ. เป็นต้น จากนั้นจึงส่งร่าง พรบ.วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. .... ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อตรวจสอบและให้ความเห็นส่งกลับมายัง ครม. อีกครั้งเพื่อพิจารณาอนุมัติในหลักการ แล้วส่งไปยังประธานวิปรัฐบาล (ปัจจุบันนายวิทยา แก้วภราดัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) เพื่อนำเข้าสู่สมัยประชุมของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

22 พฤศจิกายน 2553 จนถึงปัจจุบัน

ร่าง พรบ.วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. ..... (ฉบับร่างของรัฐบาล) ได้รับการพิจารณานำเข้าสู่วาระแรกของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 10 (การแพทย์และการสาธารณสุข) วาระแรก เริ่มต้นเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 จนถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2553 (วันจันทร์ และวันพฤหัสบดีของทุกสัปดาห์) ซึ่งมี

1.      นายสวัสดิ์ โชติพานิช                ประธานกรรมการ (อดีตประธานศาลฎีกา)
2.      นายวิฑูรย์  ตั้งตรงจิตต์              กรรมการ
3.      ศ.นพ.วิฑูรย์  อึ้งประพันธ์           กรรมการ (อดีตกรรมการแพทยสภา)
4.      นายสุประดิษฐ์  หุตะสิงห์           กรรมการ
5.      นายสมชาย  พงษธา                 กรรมการ
6.      นางจริยา  เจียมวิจิตร      กรรมการ (รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา)
7.      พลเอกพิชิต  ยูวะนิยม               กรรมการ
8.      ศ.ดร.สมคิด  เลิศไพฑูรย์           กรรมการ (อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
9.      ศ.ดร.ปิยะสกล  สกลสัตยาทร      กรรมการ (อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล)

สำหรับผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขที่เข้าร่วมในการชี้แจงครั้งนี้ตามคำสั่งของกระทรวงฯ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2553 ซึ่งมี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน, ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมาย และทีมเป็นเลขานุการ, รศ.ดร.สุรชาติ   ณ หนองคาย มหาวิทยาลัยมหิดล ในนามที่ปรึกษาสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข, นายไพศาล บางชวด นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข และนางทัศนีย์ บัวคำ อุปนายกสมาคมฯ นอกจากนี้ได้ขอให้มีผู้ชี้แจงเพิ่มเติมจากคำสั่ง คือ นายสมบัติ ชูเถื่อน เลขาธิการสมาคมฯ, นายประสพ สารสมัคร ตัวแทนจากชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย และมีผู้แทนจากสาธารณสุขอำเภอ และสถานีอนามัย เข้าร่วมรับฟังและร่วมสังเกตการณ์ด้วย

ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) ดังกล่าว ได้พิจารณาเนื้อหาและสาระของร่าง พรบ.วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. .... ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. ในวาระที่ 1 ครบทุกมาตรา และมีการตั้งข้อสังเกตและยังไม่พิจารณาให้ค้างไว้ในหลายมาตราเช่นกัน ซึ่งต้องมีการปรับปรุงร่าง พรบ.ฉบับนี้ใหม่ในหลายมาตรา จากทั้งหมด 55 มาตรา

บรรยากาศการตอบข้อซักถามของกรรมการและการชี้แจงนั้นเป็นไปด้วยความราบรื่น จะมีหน่วยงานอื่นๆ ที่มีการตั้งข้อสังเกตเป็นบางประเด็น แต่กลุ่ม 6 สภาวิชาชีพของกระทรวงสาธารณสุขยังคงคัดค้านและให้ความเห็นที่เป็นเหตุผลเดิม และมักอ้างว่า พรบ.วิชาชีพการสาธารณสุขไม่ได้กระทำต่อบุคคลโดยตรง จึงไม่ควรต้องเป็นวิชาชีพและมักอ้างว่าก้าวล้ำไปในขอบเขตของ 6 สภาวิชาชีพเดิม ถ้าหากมีการกระทำกับร่างกายมนุษย์ รวมทั้งเกรงว่าพรบ.วิชาชีพการสาธารณสุขจะไปกีดขวาง หรือห้ามคนอื่นไม่ให้ประกอบอาชีพ หรือทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพได้ ผู้แทนสภาวิชาชีพที่แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยอย่างมาก ซึ่งมีผู้แทนจากสภาทันตแพทย์ ผู้แทนสภาเทคนิคการแพทย์ และผู้แทนสภาการพยาบาล ส่วนผู้แทนจากแพทยสภายังไม่เคยเข้าร่วมประชุมชี้แจงด้วย
วันที่ 9 ธันวาคม 2553 เป็นการประชุมชี้แจงวันสุดท้ายของวาระที่ 1 เมื่อสิ้นสุดการพิจารณาประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา (ท่านสวัสดิ์ โชติพาณิชย์) มอบให้ทีมเลขานุการของคณะกรรมการฯ ไปร่วมพิจารณาทบทวนเนื้อหาและสาระของร่าง พรบ.ใหม่อีกครั้งกับผู้แทนของกระทรวงสาธารณสุข และทีมสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข แล้วนำสาระและข้อมูลที่ผ่านการทบทวน ปรับปรุงร่าง พรบ.มานำเสนอในวาระที่ 2 ภายในเดือนมกราคม 2554 คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) จะเริ่มให้มีการพิจารณาในวาระที่ 2 และอาจต่อเนื่องถึงวาระที่ 3 สำหรับเนื้อหาสาระของร่าง พรบ.วิชาชีพการสาธารณสุข ที่ปรับปรุงใหม่เป็นการให้นิยามที่ปฏิบัติหน้าที่ให้บริการประชาชนตามความเป็นจริง โดยอ้างอิงจากระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ปี 2539 ที่ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขปฏิบัติงานด้านอายุรกรรม ด้านเภสัชกรรม เป็นต้น และรวมไปถึงการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม เมื่อมีข้อสรุปที่ชัดเจนจะนำมาประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป

(สรุป ร่าง พรบ.วิชาชีพสาธารณสุข พ.ศ. .... จะมีทั้งหมด 3 ร่าง คือ1.ร่างที่เสนอโดยนักการเมือง โดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ลงชื่อ 28 ท่าน, 2. ร่างที่เสนอในนามภาคประชาชน โดยมีองค์กรแกนนำ คือ สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข เป็นแกนนำหลักในการล่ารายชื่อสนับสนุน 20.000 รายชื่อ และ 3. ร่างรัฐบาลที่กระทรวงสาธารณสุขนำเสนอ ลงนามโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ผ่าน ครม.เห็นชอบร่าง พรบ.ไป เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2553 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาให้ความเห็นและปรับปรุงร่าง พรบ. เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ และส่งร่าง พรบ.ให้กับประธานวิปรัฐบาล นายวิทยา แก้วภราดัย ต่อไป)

อย่าเพิ่งวางใจ การขับเคลื่อน พรบ.วิชาชีพการสาธารณสุข เป็นเรื่องที่มีคนได้ คนเสีย และมีผลกระทบต่อบางวิชาชีพเพราะต่างมีความเชื่อมโยงถึงกัน ขอย้ำให้พวกเราชาวสาธารณสุขพึงต่อสู้ด้วยความอดทน ต้องอาศัยความรัก ความสามัคคี และความมีเอกภาพของพวกเราเป็นหลัก โดยอยู่ภายใต้ความมีสติและปัญญา พร้อมทั้งการเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางวิชาการอย่างแท้จริง การเสนอขอให้มีกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถือเป็นเรื่องระดับชาติ แต่ก็คงจะไม่ยากที่เราจะร่วมมือกันทำให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ขอเพียงอย่าย่อท้อ ต่างต้องเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน ความหวังที่ทุกคนต้องรอคอยมาอย่างยาวนานเกือบ 100 ปี ก็จะเกิดผลได้ในอนาคตอันใกล้

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น