ข้อมูลประกอบการชี้แจงต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา (พย.53)

๑. ความเป็นมาและเจตนารมณ์ของร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. ...

วิชาการสาธารณสุข (Public Health Science) เป็นศาสตร์หรือองค์ความรู้ที่มีประวัติและวิวัฒนาการมาอย่างยาวนานมาแล้วในสังคมโลก สำหรับประเทศไทยนั้นมีการบันทึกในช่วงสมัยปี พ.ศ.๒๔๖๓ - ๒๔๖๔ ว่าสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้ทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขก่อนที่จะทรงศึกษาในวิชาแพทยศาสตร์ โดยทรงเข้าศึกษาที่ School of Health Officer ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และ The Massachusetts Institute of Technology (M.I.T.) ร่วมกัน ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรสาธารณสุข (Certificate of Public Health = C.P.H.) เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๔๖๔ นับว่าพระองค์ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่ศึกษาและสำเร็จการศึกษาด้านการสาธารณสุข มูลเหตุสำคัญที่ทรงเลือกศึกษาในวิชาการสาธารณสุขก็โดยที่ทรงตระหนักว่า ประเทศชาติจะเจริญพัฒนาได้นั้นก็ด้วยมีพลเมืองมากจำนวนที่มากพอที่จะช่วยประกอบกิจการด้านต่างๆ ส่วนประเทศเราในขณะนั้น นอกจากจะมีพลเมืองน้อยแล้ว คุณภาพร่างกายของแต่ละคนยังไม่แข็งแรงสมบูรณ์ มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนอยู่เสมอ จะเห็นได้ว่ามีจำนวนทารกตายในวัยอันไม่สมควรเป็นจำนวนครึ่งต่อครึ่ง แม้ทหารซึ่งเป็นรั้วของชาติก็มีร่างกายไม่แข็งแรง เจ็บ ออดๆ แอดๆ ทรงมีความเห็นว่าโรคภัยทั้งหลายนั้น ถ้าเราหาทางป้องกันได้แล้ว ก็จะเป็นการทุ่นเวลาในการรักษาเป็นอันมาก นอกจากนั้นวิชาแพทย์ทางด้านรักษาของเรายังไม่เจริญพอ หนทางเดียวที่จะให้ประชาชนรอดตายก่อนถึงเวลาอันสมควรก็คือ ให้เขารู้จักรักษาตัว ปรับปรุงการกินอยู่ให้มีอนามัยดี มีสุขศึกษาที่ดี เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เป็นโรค ซึ่งจะเป็นผลดีกว่าจะไปแก้ไขกันเมื่อโรคเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งการทั้งหมดนี้จะดำเนินไปได้ก็โดยมีผู้รู้วิชาการสาธารณสุขเป็นผู้จัดการ พระองค์จึงตัดสินพระทัยเรียนวิชาการสาธารณสุข ด้วยทรงเห็นประโยชน์ของวิชาการสาธารณสุข

นอกจากนี้พระองค์ท่านยังได้วางรากฐานในการพัฒนาการศึกษาด้านสาธารณสุข โดยการพระราชทานทุนให้ ศ.นพ. เฉลิม พรมมาส และ ศ.นพ.สวัสดิ์ แดงสว่าง ไปศึกษาวิชาการสาธารณสุข โดยได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาสาธารณสุขศาสตร์ และทั้งสองท่านได้ร่วมกันก่อตั้งสถาบันการศึกษาสาธารณสุขศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย คือ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑ โดยหลักสูตรแรกที่เปิดสอนคือ หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต ต่อมาได้มีการพัฒนาการศึกษาด้านสาธารณสุขศาสตร์ โดยมีสถาบันการศึกษาสาธารณสุขทั่วประเทศเกิดขึ้นทั้งระดับมหาวิทยาลัยของรัฐไม่น้อยกว่า ๑๗ สถาบัน ระดับวิทยาลัย (วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร) ในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข จำนวน ๗ สถาบัน และในปัจจุบันยังมีการจัดการศึกษาในสาขาสาธารณสุขศาสตร์ใน มหาวิทยาลัยราชภัฏอีกหลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของเอกชน มีการจัดการศึกษาด้านสาธารณสุขในทุกระดับ ทั้งปริญญาตรี โท และเอก และมีการจัดการศึกษาในวิชาเฉพาะสาขาขยายออกไปมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุข มีความรู้ความชำนาญในสาขาวิชาชีพที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น

สถาบันการศึกษาสาธารณสุขศาสตร์ทุกแห่ง มุ่งผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขให้เป็น นักสาธารณสุขมืออาชีพ มีความรู้ในศาสตร์สาธารณสุขอย่างถ่องแท้ มีการบูรณาการและการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ ทั้งที่เป็นศาสตร์และศิลปะให้สามารถปฏิบัติได้จริง ทั้งในระดับบุคคล ระดับชุมชน ระดับประเทศ และนานาชาติ สามารถที่จะสื่อประสานข้อมูลและมีการคิดวิเคราะห์เชิงระบบในการตัดสินใจ มีคุณธรรมและจริยธรรมในการปฏิบัติวิชาชีพ และต้องมีการศึกษาอบรมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นผู้นำในการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ซึ่งหมายความรวมถึงการรักษาพยาบาลเบื้องต้น เพื่อให้บริการแก่ประชาชนด้วยมาตรฐาน จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ และเป็นที่ยอมรับของประชาชน ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าวิวัฒนาการของการสาธารณสุขที่ได้ริเริ่มและพัฒนามาอย่างยาวนานกว่า ๖๐ ปี จนกระทั่งถึงปัจจุบัน มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญ โดยจะเป็นการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนให้มีสุขภาพที่ดี ลดการเจ็บป่วยและค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล การสาธารณสุขจึงเป็นศาสตร์และองค์ความรู้ที่จะบังเกิดเป็นผลดีต่อสังคมและประเทศชาติโดยรวม

โดยที่กฎหมายรัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุด ได้กำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และเมื่อบัญญัติให้สิ่งใดเป็นสิทธิไว้ ก็จะบัญญัติแนวนโยบายที่จะต้องคุ้มครองสิทธินั้นไว้ด้วย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นฉบับที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน มาตรา ๘๐ (๒)บัญญัติไว้ว่า

“ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาระบบสุขภาพที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ อันนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของประชาชน รวมทั้งจัดและส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เอกชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพและการจัดบริการสาธารณสุข โดยผู้มีหน้าที่ให้บริการดังกล่าวซึ่งได้ปฏิบัติงานหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย”

ดังนั้น การกระทำใดๆ ก็ตามที่จะสนับสนุนหรือส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและทั่วถึงจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่รัฐจะต้องจัดการให้มีและเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวก็ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายด้วย มิใช่ปล่อยให้กระทำการไปอย่างขาดการคุ้มครองและควบคุมจนประชาชนอาจจะได้รับบริการสาธารณสุขที่ต่ำกว่ามาตรฐานและไม่มีจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ซึ่งเป็นหลักการที่สำคัญของ การประกอบวิชาชีพ โดยเหตุนี้ผู้ให้บริการสาธารณสุขทุกประเภทจึงพึงต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ เพื่อเป็นการคุ้มครองและพัฒนามาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขให้กับประชาชน และสอดคล้องกับบทบัญญัติในกฎหมายรัฐธรรมนูญ

สถาบันการศึกษาด้านสาธารณสุขศาสตร์ทุกแห่งที่เปิดการเรียนการสอนในประเทศไทย ต่างก็มีเป้าหมายสำคัญที่มุ่งผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขให้เป็นนักสาธารณสุขมืออาชีพ มีความรู้ในศาสตร์สาธารณสุขอย่างถ่องแท้ มีการบูรณาการและการประยุกต์องค์ความรู้ ทั้งที่เป็นศาสตร์และศิลปะให้สามารถปฏิบัติได้จริง ทั้งในระดับบุคคล ระดับชุมชน ระดับประเทศ และนานาชาติ สามารถที่จะสื่อประสานข้อมูลและมีการคิดวิเคราะห์เชิงระบบในการตัดสินใจ มีคุณธรรมและจริยธรรมในการปฏิบัติวิชาชีพ และมีการศึกษาอบรมมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นผู้นำในการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคซึ่งหมายความรวมถึงการรักษาพยาบาลเบื้องต้น เพื่อให้บริการแก่ประชาชนด้วยมาตรฐาน จริยธรรม และจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ และเป็นที่ยอมรับของประชาชน ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า วิวัฒนาการของการสาธารณสุขที่ได้ริเริ่มและพัฒนามาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญ โดยการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนให้มีสุขภาพที่ดี ลดการเจ็บป่วยและค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล วิชาชีพการสาธารณสุขที่มีการควบคุมอย่างมีมาตรฐานและจริยธรรม จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ จึงน่าที่จะบังเกิดเป็นผลดีต่อสังคมและประเทศชาติโดยรวม

การพัฒนากฎหมายวิชาชีพการสาธารณสุขได้มีความพยายามและขับเคลื่อนมาโดยตลอดและเป็นเวลานานแล้วกว่าสองทศวรรษ โดยมีการพัฒนาแนวคิดที่เริ่มต้นก่อนการมีรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เสียอีก อาจจะกล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเริ่มต้นโดยสำนักงานโครงการวิจัยกฎหมายการแพทย์ สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสังกัดบัณฑิตวิทยาลัย ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้เปิดประเด็นการคุ้มครองการปฏิบัติงานด้านเวชกรรมของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสถานีอนามัย ทำให้เกิดแนวคิดที่จะพัฒนากฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขของเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย และต่อมาได้มีงานวิชาการของนักวิชาการที่สนใจและเกี่ยวข้องเกิดขึ้นในประเด็นนี้ตามมาหลายเรื่อง ส่งผลให้มีกลุ่ม องค์กร และชมรมต่างๆ ได้ทำการขับเคลื่อนเพื่อยกร่างกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสาธารณสุขขึ้นมา การขับเคลื่อนเพื่อยกร่างและผลักดันกฎหมายวิชาชีพการสาธารณสุขได้เกิดขึ้นอย่างมากอย่างเป็นกระบวนการและเป็นรูปธรรม จนในที่สุดได้มีการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในช่วงรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากข้อจำกัดในการเสนอข้อมูลทางวิชาการในการสนับสนุนหลักการและเจตนารมณ์ที่ชัดเจนและเพียงพอ ประกอบกับประเด็นทางการเมืองที่ร่างกฎหมายเข้าพิจารณาในจังหวะที่เร่งรัดไม่เหมาะสมทำให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว จึงทำให้ไม่ได้มีการพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอในช่วงนั้น

สมาคมวิชาชีพสาธารณสุขได้เปิดเวทีการประชุมทั่วประเทศ พร้อมทั้งขอความเห็นในการเป็นเจ้าภาพเปิดเวทีการประชุมร่วมกับคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์แห่งประเทศไทยได้มีการหยิบยกสาระสำคัญที่ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีการอภิปรายและคัดค้านร่างกฎหมายวิชาชีพการสาธารณสุขในขณะนั้นมาพิจารณา และได้มีการประชุมพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่ยังไม่ชัดเจนและขาดข้อมูลสนับสนุนอย่างเพียงพอจนครบถ้วนทุกประเด็น จึงได้มีการยกร่าง พระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. ... ขึ้นมาอีกครั้ง โดยมอบให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 25 ท่าน ลงลายมือชื่อรับเป็นเจ้าของร่างนำเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 พร้อมกับร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. .... ที่มีประชาชนร่วมเข้าชื่อเสนอขอให้มีกฎหมายวิชาชีพฉบับนี้ประมาณ 18,000 รายชื่อ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2552 (ผ่านการตรวจสอบจากสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว) ต่อมาสมาคมวิชาชีพสาธารณสุขรับทราบข้อมูลจากสถาบันการศึกษาด้านสาธารณสุขว่าสถาบันได้มีการพัฒนาให้มีมาตรฐานจริยธรรมแห่งวิชาชีพโดยการประกาศ “มาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๕๐” ขึ้น และให้ผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขได้ถือปฏิบัติ

ในทางการผลักดันกฎหมายและทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญและความจำเป็นของการมีกฎหมายได้มีการเข้าพบชี้แจงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขในประเด็นเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องมีการตรากฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสาธารณสุข พร้อมทั้งเสนอข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทุกครั้งเท่าที่มีโอกาส อาทิ เข้าพบเพื่อชี้แจงต่อนายวิทยา แก้วภราดัย ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอให้มีการสนับสนุนให้มีกฎหมายวิชาชีพการสาธารณสุข หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขกล่าวอ้างไม่เห็นด้วยกับการมีร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุข โดยอ้างเหตุผลตามสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติไม่รับหลักการในร่างกฎหมาย และเหตุผลจากมติของสภาวิชาชีพต่างๆ ทั้ง 6 สภา จึงเป็นที่มาของการหารือร่วมระหว่างคณะกรรมการและสมาชิกของสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข โดยการนำของนายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข นายไพศาล บางชวด กับผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายไพจิตร วราชิตร์ เป็นประธาน ไปเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 จากนั้นจึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้อีกครั้ง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประกาศเป็นนโยบายให้มีการผลักดันพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุขขึ้นมาอีกหนึ่งฉบับ หรือต่อมาได้เข้าพบนายชวรัตน์ ชาญวีรกุล ในช่วงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ที่ผ่านมาสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข ซึ่งมี รศ.ดร.สุรชาติ ณ หนองคาย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาด้านสาธารณสุขศาสตร์ต่างๆ ได้ให้การสนับสนุนทางวิชาการเกี่ยวกับการผลักดันให้มีกฎหมายวิชาชีพการสาธารณสุขแก่สมาคม กลุ่ม และชมรมต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนกฎหมายวิชาชีพสาธารณสุขมาโดยตลอด โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนากฎหมายที่จำเป็นในการคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนให้ได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญและเป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรมแห่งวิชาชีพ โดยเหตุนี้สมาคมวิชาชีพสาธารณสุขจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเสนอข้อมูลและข้อเท็จจริงให้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เข้าใจและรับรู้ถึงเหตุผล ความจำเป็นและความสำคัญของการเสนอร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. ... ตามเอกสารที่แนบดังกล่าว

๒. ความเป็นวิชาชีพของวิชาชีพการสาธารณสุข

เป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสาธารณสุข กรอบการพิจารณาในประเด็นนี้ได้วางหลักไว้ ๖ ประการ เพื่อเอามาประกอบการให้ความเห็นในเรื่องนี้ กล่าวคือ

๒.๑ วิชาชีพต้องให้บริการแก่สังคมอันมีลักษณะจำเพาะเจาะจง โดยสมาชิกที่มีความรู้ความชำนาญเท่านั้น และการประกอบวิชาชีพที่ว่านั้นใช้ได้ทั้งการรับราชการและประกอบอาชีพอิสระ

๒.๒ วิชาชีพต้องมีการศึกษาอบรมชั่วระยะเวลาหนึ่ง เป็นเวลาอย่างน้อยหลายปีในสถานศึกษาระดับสูง

๒.๓ วิชาชีพต้องใช้กระบวนการหรือวิธีการทางปัญญาในการให้บริการ ทั้งในการประกอบวิชาชีพอิสระและรับราชการ มากกว่าการใช้แรงกาย

๒ง๔ บริการที่ให้โดยผู้ประกอบวิชาชีพ ต้องมีอิสระและใช้ดุลยพินิจวิจารณญาณของตนในการใช้ความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพแก่ผู้ป่วยหรือประชาชน

๒.๕ วิชาชีพต้องมีจริยธรรมหรือจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเพื่อถือปฏิบัติในกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ

๒.๖ มีสภาวิชาชีพในการควบคุมดูแลกันให้เป็นไปตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ

ทั้ง ๖ ประเด็นที่ยกมานี้เป็นกรอบการพิจารณาที่สำคัญที่ได้ยกมาประกอบการให้ความเห็นต่อการเป็นวิชาชีพซึ่งมีข้อโต้แย้งจากผู้เกี่ยวข้องในการประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพบางท่าน และบางประเด็นเป็นประเด็นที่เคยมีการอภิปรายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติในการพิจารณาหลักการของร่างกฎหมายที่เสนอในคราวแรก ซึ่งสามารถอธิบายสาระในแต่ละประเด็นตามลำดับต่อไปนี้
ประเด็น ๒.๑ วิชาชีพต้องให้บริการแก่สังคมอันมีลักษณะจำเพาะเจาะจง โดยสมาชิกที่มีความรู้ความชำนาญเท่านั้น และการประกอบวิชาชีพที่ว่านั้นใช้ได้ทั้งการรับราชการและประกอบอาชีพอิสระ

ประเด็นนี้มักมีข้อโต้แย้งของบางท่านให้ความเห็นว่า การสาธารณสุข นั้นเป็นกิจกรรมที่ทุกคนต้องช่วยกันและร่วมมือกระทำต่อกัน ประชาชนโดยทั่วไปสามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเอง เพื่อดูแลสุขภาพของตนเป็นปกตินิสัย จึงไม่เข้าข่ายการให้บริการโดยเฉพาะเจาะจง ประกอบ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เป็นผู้ทำหน้าที่นี้เป็นการทำหน้าที่ในทางราชการ ไม่มีโอกาสไปประกอบอาชีพอิสระได้ จึงขาดองค์ประกอบวิชาชีพข้อนี้

ประเด็นความเห็นดังกล่าวนี้มีส่วนจริงบ้างแต่ไม่ทั้งหมด อาจจะเนื่องจากการมองกิจกรรมการสาธารณสุขที่ผ่านมาตามระบบราชการซึ่งเป็นระบบที่มีแบบแผนขั้นตอนและการใช้อำนาจสูง กล่าวคือมองการสาธารณสุข เป็นกิจกรรมที่รัฐมีหน้าที่จัดให้ประชาชนเท่านั้น วิธีคิดหรือการมองเช่นนี้ดูเสมือนว่ายังขาดความเข้าใจและไม่ลึกซึ้งในเนื้อหาวิชาการสาธารณสุข ด้วยเหตุที่การสาธารณสุขนั้นเป็นที่ว่าด้วยการทำให้ไม่เจ็บป่วยหรือป้องกันก่อนการเจ็บป่วยซึ่งถือ เป็นศาสตร์และศิลป์ ในการป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ การทำให้มีชีวิตยืนยาว รวมถึงความพยายามในการจัดการให้เกิดสิ่งเหล่านี้ในสังคม ในรายละเอียดเฉพาะแต่ละเรื่องไม่ว่าจะเป็นการป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ หรือการทำให้ชีวิตยืนยาวก็ดี ที่เป็นประเด็นจำเพาะเจาะจงอย่างมาก มีการศึกษาทั้งศาสตร์และการประยุกต์ศิลป์ ต่างๆ ในการทำงานมาเป็นเวลายาวนาน เรียกได้ว่าเป็นศาสตร์ที่เกิดก่อนวิชาชีพหลายๆวิชาชีพที่มีอยู่ปัจจุบันก็ว่าได้
ขอยกตัวอย่างสักหนึ่งประการ เช่นการป้องกันโรคนั้นมีความจำเป็นที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องระบาดวิทยา ชีววิทยา สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติบุคคล รวมถึงอีกหลายศาสตร์อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะในบางโรคที่ควบคุมยากและยังทราบวิธีการรักษาที่แน่ชัด ไม่ว่าจะเป็น เอดส์ ไข้หวัดนก หรือโรคซาร์ หรือแม้กระทั่งโรคที่ควบคุมง่าย ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดธรรมดา หรือ ท้องร่วง เป็นต้น องค์ความรู้เหล่านี้ไม่เสมอไปที่ประชาชนทั่วไปจะมีความรู้ ความเข้าใจได้เองโดยปราศจากการศึกษาทางวิชาการอย่างเจาะจงและชั้นสูง แต่ทว่าผลที่เกิดจากการศึกษาและเรียนรู้อย่างเฉพาะเจาะจงต่างหาก ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ส่งผลให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอื่นๆได้รับประโยชน์อย่างมาก จนพัฒนาเป็นความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะในแต่ละด้านแต่ละกิจกรรมกันไป คงไม่สามารถกล่าวได้อย่างถนัดว่า วิชาการแพทย์ วิชาการพยาบาล วิชาทันตกรรม วิชาเภสัชกรรม ไม่จำเป็นต้องศึกษาพื้นฐานด้านสาธารณสุข ในทางตรงกันข้ามผู้ศึกษาวิชาชีพเหล่านี้มีความจำเป็นต้องศึกษาวิชาการด้านสาธารณสุขกันทั้งสิ้น แต่เป็นไปในระดับพื้นฐานทางสาธารณสุข แต่ศึกษาลึกซึ้งในศาสตร์ของตนเพื่อความเชี่ยวชาญในสาขาตนเองต่อไป เป็นกรณีเดียวกับการศึกษาในสาขาวิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย ในวิชาการศึกษาทั่วไป แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องไปเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย แต่เป็นไปเพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องกฎหมายทั่วไป ส่วนความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายโดยเจาะจงนั้น เป็นเรื่องของผู้ศึกษาในสาขานิติศาสตร์เป็นต้น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด หากจะมีบางท่านที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือ พยาบาล หรือ เภสัชกรรม หรือ ทันตกรรมจะไม่เข้าใจหรือลึกซึ้งเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านสาธารณสุข ตัวอย่างในเรื่องการป้องกันโรคนี้ยังเป็นแค่ตัวอย่างเดียวและเป็นการยกตัวอย่างที่ผิวเผินเท่านั้น เพราะความเป็นจริงในทางการพัฒนาองค์ความรู้แต่ละสาขามีวิวัฒนาการและการศึกษาเชิงลึก แยกย่อยลงไปอีกมาก แต่ประเด็นที่ยืนยันในขั้นต้นนี้ก็คือไม่ใช่อย่างแน่นอนที่ว่าประชาชนโดยทั่วไปจะสามารถเข้าใจเรื่องการป้องกันโรคทุกโรคด้วยตนเอง ในทางกลับกัน การดูแลตนเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาเมื่อเกิดเจ็บป่วย การแสวงหาสิ่งที่จะบรรเทาอาการเมื่อเจ็บป่วย ต่างหาก ที่เป็นสัญชาตญาณในการป้องกันชีวิตของตนที่เป็นปกตินิสัย ซึ่งเป็นลักษณะเช่นนี้มาแต่บรรพกาลแล้ว

และยิ่งไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงองค์ความรู้ในด้านการส่งเสริมสุขภาพ การทำให้ชีวิตยืนยาว ยิ่งเป็นความรู้เชิงจำเพาะจงมากขึ้น ด้วยจำเป็นต้องศึกษาและวิจัยอย่างละเอียด แน่นอน รวมถึงการไปจัดบริการที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในชุมชน บางกิจกรรมนั้นจัดโดยผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญก็ประสบความสำเร็จ บางกิจกรรมนั้นจัดโดยผู้ไม่เชี่ยวชาญก็ล้มเหลวมีให้เห็นนักต่อนักแล้ว บริการสาธารณสุขนี้ยังสามารถจัดให้สำหรับบุคคล หรือครอบครัว หรือชุมชนได้แทบทั้งสิ้น จะว่าไปแล้วบริการสาธารณสุขนั้นยิ่งเป็นบริการพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้กับประชาชนตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย ยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องจัดคนที่เชี่ยวชาญเฉพาะและมีความรู้อย่างเพียงพอไปรับผิดชอบ แต่ในทางการรับรู้ของคนทั่วไป จึงเข้าใจเสมือนว่าเป็นบริการที่รัฐกระทำได้ฝ่ายเดียว ในความเป็นจริงยังเป็นการบริการในภาคเอกชน และองค์กรอิสระมากมาย แตกต่างกันไป ทั้งมีส่วนที่ซ้ำกับที่รัฐจัดให้กับประชาชน และเฉพาะเจาะจงกว่ารัฐจัดให้ประชาชนเสียอีก ในความเป็นจริงบริการทางสาธารณสุขเหล่านี้ในประเทศที่เจริญแล้วหลายประเทศ เป็นบริการที่เป็นได้ทั้งแบบสินค้าสาธารณะ (Public goods) แบบสินค้าส่วนบุคคล (private goods) เช่นที่ประเทศสหราชอาณาจักร บริการที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน หรือการดูแลผู้สูงอายุ เป็นบริการที่ดำเนินกิจกรรมโดยบริษัทเอกชนในทำนอง Village home care service Company เป็นต้น หรือแม้กระทั่งในประเทศไทยเอง การดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานในโรงงานก็เป็นหน้าที่ของ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (จป.) หรือ การศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในโครงการใหญ่ที่กำหนดไว้ให้จะต้องทำตามกฎหมายในปัจจุบัน หรือกิจกรรมทางสุขาภิบาลต่างๆ เหล่านี้ก็ดำเนินการโดยนักสาธารณสุขที่เรียนรู้และศึกษาอบรมมาทางสาธารณสุขแทบทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าอาจจะต่างสาขากันไปเท่านั้น

ดังนั้นประเด็นที่ได้ให้ความเห็นว่าผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขซึ่งหากจะมีในอนาคต สามารถทำงานได้เฉพาะในราชการเท่านั้น นับเป็นความเห็นที่มองในมุมเก่าที่เป็นระบบการจัดบริการสาธารณสุขแบบเก่าๆ ที่เกิดจากรัฐจำต้องจัดให้กับประชาชนแต่มุมเดียว หากเปิดใจให้กว้างขึ้นจะเห็นว่าในระบบสุขภาพใหม่ที่เกิดขึ้นในงบประมาณสำหรับหน่วยบริการที่คิดเป็นรายหัวประชากรตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทช่วยคนไทยห่างไกลโรค) ยังมีการกล่าวถึง งบประมาณสำหรับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแยกออกมาจากงบประมาณที่จัดสำหรับการรักษาผู้ป่วยอย่างชัดเจน แสดงให้เห็นทิศทางที่ชัดเจนของระบบการสร้างสุขภาพและป้องกันโรค ที่พยายามแยกออกมาจากงบประมาณด้านการรักษาพยาบาล และแนวโน้มในอนาคตที่เกิดการแยกกันอย่างชัดเจนระหว่างผู้จัดบริการกับผู้ซื้อบริการตามแนวคิดแบบตลาดภายใน (Internal market) ภาคประชาชนที่นับวันจะเข้มแข็งและมีการรับรู้ข่าวสารและสิทธิของตนเองมากขึ้น ดังกรณีที่เป็นประเด็นทางการเมืองอยู่ในปัจจุบันนี้ หน่วยงานที่เป็นผู้จัดบริการย่อมที่จะมีโอกาสถูกถามจากประชาชนได้ว่า งบประมาณส่วนการสร้างสุขภาพและป้องกันโรคนั้น ได้มีการใช้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอย่างแท้จริงหรือไม่ และองค์กรที่ทำหน้าที่จัดบริการด้านนี้เป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอย่างเพียงพอหรือไม่ หรือว่าเป็นเพียงมือสมัครเล่น ที่อาศัยสถานการณ์ที่ประชาชนยังไม่ชัดเจนในความเข้าใจตรงนี้เอาเงินด้านสร้างสุขภาพและป้องกันโรค ไปใช้ในทางอื่น และปล่อยให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพตามมาจนเกิดปัญหาการแก้ที่ปลายเหตุคือความเจ็บป่วยและต้องตามรักษากันต่อไปอย่างไม่รู้จักจบสิ้น อาจจะถึงกรณีที่มีเหตุการณ์ที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อเรียกร้องความเสียหายอันเกิดจากกระทำหรือการละเว้นการกระทำของหน่วยงานที่จัดบริการทางสุขภาพก็เป็นได้


ประเด็น ๒.๒ วิชาชีพต้องมีการศึกษาอบรมชั่วระยะเวลาหนึ่ง เป็นเวลาอย่างน้อยหลายปีในสถานศึกษาระดับสูง

ประเด็นนี้มีบางท่านให้ความเห็นว่า การสาธารณสุขไม่อยู่ในข่ายนี้ ยิ่งเป็นเรื่องเข้าผิดใจเป็นอย่างมาก เรื่องนี้มีประจักษ์พยานชัดเจนว่าการสาธารณสุขนั้นเป็นเรื่องที่มีการศึกษาเรียนรู้กันมานาน มีบุคคลระดับสูงในสังคมไทยที่เป็นถึงระดับเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณและมีสายพระเนตรอันยาวไกลได้ศึกษาในสาขาวิชานี้ ที่ได้กล่าวถึงแล้วในตอนต้นคือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ทรงได้รับการถวายพระเกียรติว่าเป็น “พระราชบิดาแห่งวงการสาธารณสุขไทย” ก็ทรงได้รับการศึกษาด้านสาธารณสุขก่อนที่จะทรงศึกษาในวิชาแพทยศาสตร์ เรียกได้ว่าการเกิดวิชาชีพนี้เกิดขึ้นก่อนวิชาชีพด้านอื่นอีกหลายสาขา และพัฒนาการทางด้านการศึกษาในสาขานี้มีการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัย หรือสถาบันอุดมศึกษาชั้นสูง ทั้งในระดับประกาศนียบัตร ปริญญา ทุกระดับปริญญาทั้งในไทยและต่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงในต่างประเทศว่ามีการพัฒนาองค์ความรู้ด้านนี้กันเพียงใด ในประเทศไทยนั้นคณะสาธารณสุขศาสตร์แห่งแรกที่ตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ก็เกิดขึ้นมาเป็นเวลายาวนาน และขยายออกไปจนมีสถาบันการศึกษาในสาขาวิชาสาธารณสุขในมหาวิทยาลัยไม่ต่ำกว่า ๒๐ มหาวิทยาลัย และในระดับวิทยาลัยไม่ต่ำกว่า ๗ วิทยาลัย ทั้งในภาครัฐและเอกชน ผลงานที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ผลิตบัณฑิตเท่านั้น องค์ความรู้และวิทยาการต่างๆที่เกิดขึ้นจากสถาบันเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่ามีประโยชน์ต่อประเทศชาติมากมายสุดพรรณนา ผู้ประกอบวิชาชีพในสาขาสุขภาพเป็นจำนวนไม่น้อยที่สนใจที่จะศึกษาความรู้และพัฒนาตนเองในสาขาสาธารณสุขได้เปลี่ยนเส้นทางการเรียนรู้มาศึกษาในศาสตร์นี้เป็นจำนวนมากในแต่ละปี


ประเด็น ๒.๓ วิชาชีพต้องใช้กระบวนการหรือวิธีการทางปัญญาในการให้บริการ ทั้งในการประกอบวิชาชีพอิสระและรับราชการ มากกว่าการใช้แรงกาย
องค์ประกอบในข้อที่ผ่านมาได้ยืนยันว่า การศึกษาอบรมในทางสาธารณสุขนี้มีการศึกษาไปจนถึงชั้นสูงสุดในระดับปริญญาเอก และหลังปริญญาเอก ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และผลงานจากการศึกษาวิจัยที่เป็นองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นในสาขานี้ได้ก่อคุณานุประการต่อสังคมไทยอย่างเหลือคณานับ

งานด้านสาธารณสุขนั้นเป็นเสมือนการใช้ศาสตร์และศิลป์อย่างหนึ่ง และมีการแยกย่อยสาขาความเชี่ยวชาญออกไป แต่วัตถุประสงค์โดยรวมชัดเจนอยู่แล้ว คือเพื่อการป้องกันโรค การทำให้ชีวิตผู้คนยืนยาวออกไป จึงเป็นวัตถุประสงค์เดียวกันกับทั้งสี่วิชาชีพได้ทำหน้าที่อยู่ เพียงแต่แบ่งแยกหน้าที่กันออกไป หากจะบอกว่าไม่มีความจำเป็น เราคงไม่จำเป็นต้องแยกผู้ประกอบวิชาชีพที่มีอยู่แล้วออกเป็นกลุ่มว่าเป็นแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ให้แตกต่างกันให้ยุ่งยาก การงานด้านสาธารณสุขก็เช่นเดียวกันก็เป็นการงานที่มีการพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะไว้ในระดับหนึ่งนอกเหนือจากความรู้ที่เป็นแกนกลาง ดังจะเห็นได้ว่ามีนักสาธารณสุขที่เชี่ยวชาญในเรื่อง การสุขาภิบาล หรือโภชนาการ หรือการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยในการทำงาน อนามัยสิ่งแวดล้อม การสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ เป็นต้น ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับทั้งสี่วิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองแล้ว ได้พัฒนาความเชี่ยวชาญของตนเองในสาขาต่างๆ ในปัจจุบัน เช่น แพทย์ก็อาจจะมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน หรือเชี่ยวชาญเรื่องหู คอ จมูก เป็นต้น


ประเด็น ๒.๔ บริการที่ให้โดยผู้ประกอบวิชาชีพ ต้องมีอิสระและใช้ดุลยพินิจวิจารณญาณของตนในการใช้ความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพแก่ผู้ป่วยหรือประชาชน

การมีอิสระในการใช้ดุลยพินิจต่อผู้ป่วยหรือประชาชนนั้นไม่ใช่เฉพาะแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรือทันตแพทย์เท่านั้นที่มี และมิใช่ว่าผู้ประกอบการงานด้านสาธารณสุขจะไม่มีอิสระ เพียงแต่ว่ามีอิสระในบทบาทที่ต่างกันเท่านั้น ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างแน่นอนว่าการมีอิสระต่อผู้ป่วยด้านการรักษาโรค นั้นเป็นอิสระของแพทย์ แต่อิสระนั้นต้องมีขอบเขตและอยู่ภายใต้เหตุผลทางวิชาการ รวมถึงการยินยอมพร้อมใจและความร่วมมือในการปฏิบัติตามของผู้ป่วยด้วย ไม่ใช่การมีอำนาจตามอำเภอใจของตนเองโดยลำพังและไร้ขอบเขต เช่นเดียวกันกับการงานด้านสาธารณสุขอิสระทางการทำงานเพื่อการป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพตามความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องของตนเองย่อมเกิดขึ้นตามอำนาจความรู้และความเชี่ยวชาญของตนตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพที่มีอยู่ เป็นที่รับรู้ว่ากว่าที่ประชาชนจะยอมรับรู้ เชื่อถือและปฏิบัติตามในทางสุขภาพย่อมไม่ใช่กระบวนการที่เกิดขึ้นง่ายๆ การงานสาธารณสุขหลายอย่างนักสาธารณสุขต้องทุ่มเทกำลังปัญญาและความพยายามอย่างมากกว่าจะประสบความสำเร็จมาได้ การเปรียบเทียบเอาว่าผู้ทำการงานด้านสาธารณสุขมีหน้าที่แค่ให้ความรู้ แล้วประชาชนเป็นผู้ปฏิบัตินั้น เป็นการมองเพียงกิจกรรมเดียวเท่านั้นและยังเป็นการมองที่ผิดจุดด้วยซ้ำ เพราะผู้ประกอบวิชาชีพทั้งสี่วิชาชีพเองในปัจจุบันก็ไม่อำนาจโดยอิสระที่จะไปใช้ดุลยพินิจโดยลำพังในการตัดสินผู้ป่วยหรือประชาชน เพราะล้วนแต่ต้องอาศัยหลักวิชาการทั้งมวลไม่เฉพาะในสาขาใดสาขาหนึ่งเท่านั้น รวมถึงการยินยอมพร้อมใจของผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบด้วย ไม่อย่างนั้นย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิผู้อื่นอย่างไม่สมควรและผิดบทบัญญัติแห่งกฎหมายอีกด้วย

ประเด็น ๒.๕ วิชาชีพต้องมีจริยธรรม หรือจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเพื่อถือปฏิบัติในกลุ่ม ผู้ประกอบวิชาชีพ
ความเห็นบางท่านโดยสรุปในประเด็นนี้ กล่าวคือ การงานสาธารณสุขมีบุคลากรหลายประเภท หลากหลายระดับต่างกัน ทำให้ระบบควบคุมจริยธรรมไม่มีเอกภาพ ไม่ชัดเจน หรือมีหลายมาตรฐานและไม่มีบทลงโทษทางวิชาชีพ ประเด็นนี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญจำเป็นที่จะต้องจัดทำบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิชาชีพขึ้นมา เพื่อให้มีการจัดระบบในเรื่องนี้ การที่จะเกิดระบบจริยธรรมและคุณธรรมแห่งวิชาชีพที่เป็นระบบ มีเอกภาพ และมาตรฐาน ตลอดจนกล่าวไปไกลถึงบทลงโทษนั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องตราเป็นพระราชบัญญัติวิชาชีพขึ้นมา ตามระบบกฎหมายไทยที่เป็นแบบลายลักษณ์อักษร นี่คือเหตุผลสำคัญประการหนึ่งของการเกิดขึ้นของวิชาชีพ หากศึกษาวิวัฒนาการของกฎหมายวิชาชีพด้านสาธารณสุขแล้วก็จะพบว่ากฎหมายวิชาชีพด้านสุขภาพฉบับแรกของไทยคือ พระราชบัญญัติการแพทย์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๖ นั้น ก็เกิดขึ้นด้วยเหตุผลนี้เป็นสำคัญ และหากผู้ทำการงานด้านสาธารณสุขจะมีการจัดการตรงนี้ก็จำเป็นต้องใช้กฎหมายวิชาชีพเท่านั้นในระบบบ้านเมืองเราเท่าที่เป็นอยู่


ประเด็น ๒.๖ มีสภาวิชาชีพในการควบคุมดูแลกันให้เป็นไปตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ

บางความเห็นกล่าวว่า สภาวิชาชีพจะไม่สามารถบริหารกิจการในการรักษามาตรฐานแห่งวิชาชีพได้ เนื่องจากมีบุคคลที่หลากหลาย ทั้งประเภทและระดับ หากพิจารณาอย่างผิวเผินอาจจะเป็นอย่างนั้น แต่หากพิจารณาดูอย่างถ้วนถี่แล้ว จะเห็นว่าในความหลากหลายในประเภทและระดับนั้น อยู่ภายใต้ พันธกิจเดียวกันคือ การทำงานด้านสาธารณสุข ซึ่งมีความรู้และความเชี่ยวชาญที่มีต้นทุนในการพัฒนาที่แตกต่างกัน แต่หากมีการรวบรวมเข้ามาหากันภายใต้หลักการเดียวกันในการทำงานการด้านสาธารณสุขย่อมเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย หากปล่อยไว้ต่อไปก็จะกระจัดกระจายและไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน หากศึกษากฎหมายวิชาชีพด้านสาธารณสุขอย่างมากพอ จะเห็นว่าทุกวิชาชีพในระบบสุขภาพเคยเริ่มต้นพัฒนาในกฎหมายเดียวกัน ตั้งแต่กฎหมายว่าด้วยการแพทย์ จนเป็นกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะซึ่งบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน การรวมอยู่ในกฎหมายเดียวก็มีจุดดี และจุดอ่อน การแยกออกมาเป็นกฎหมายเฉพาะก็มีจุดดีและจุดอ่อนเช่นกัน ในระบบกฎหมายวิชาชีพด้านสุขภาพในบ้านเรานั้น มีการใช้ทั้งสองระบบในปัจจุบัน คือมีกฎหมายเฉพาะ ๖ ฉบับ (สำหรับแพทย์, พยาบาล, เภสัชกร, ทัตแพทย์, เทคนิคการแพทย์ และกายภาพบำบัด) กฎหมายรวมหนึ่งฉบับ (พ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. ๒๕๔๒) ซึ่งการควบคุมดูแลกันเองในกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพนั้นเป็นเรื่องที่ดีและเป็นระบบที่นานาอารยะประเทศยอมรับนับถือ

กล่าวโดยรวมแล้วในประเด็นการพิจารณาความเป็นวิชาชีพหรือไม่ เป็นประเด็นที่มีสำคัญในการพิจารณาว่าสมควรที่จะมีกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสาธารณสุขหรือไม่ เมื่อพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพในประเทศไทยที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน มาประมวลแล้วสามารถสรุปหลักเกณฑ์สำคัญที่ตรงกันได้ว่าความเป็นวิชาชีพมีคุณลักษณะดังนี้

๑. มีความรู้ขั้นสูง หรือถ้าไม่มีแล้วจะปฏิบัติงานวิชาชีพนั้นๆ ไม่ได้

๒. เมื่อมีความรู้ตามข้อ ๑. และมีคุณสมบัติตามที่กำหนดต้องมีการขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกเพื่อขอรับใบประกอบวิชาชีพ

๓. บรรดาสมาชิกในข้อ ๒. เลือกผู้ขึ้นทะเบียนมาเป็นสภาหรือคณะกรรมการวิชาชีพ

๔. สภาหรือคณะกรรมการวิชาชีพควบคุมสมาชิกให้ปฏิบัติวิชาชีพในสองประเด็นใหญ่คือ การรักษามาตรฐานวิชาชีพ และจริยธรรมหรือจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ

๕. สมาชิกผู้ขึ้นทะเบียนที่ไม่รักษามาตรฐานวิชาชีพ และ/หรือจริยธรรม/จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพจะถูกลงโทษสูงสุด คือเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ

หากจะค้นหาคำตอบตามหลักเกณฑ์ที่สรุปมา ๕ ประเด็นดังกล่าว ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือข้อที่หนึ่ง เนื่องจากการเป็นวิชาชีพประการแรกจะต้องอธิบายถึงองค์ความรู้ที่ได้มีการศึกษาเรียนรู้มานั้นมีเพียงพอหรือไม่ วิชาชีพการสาธารณสุขเป็นที่ยอมรับและพัฒนากันมากว่าศตวรรษว่าเป็นศาสตร์ที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของมวลมนุษยชาติ และเป็นความเฉพาะเจาะจงในเนื้อวิชาการและทฤษฎีในอารยประเทศ มีการศึกษาในทุกระดับปริญญา และมีทั้งศาสตร์ในเชิงกว้างและลึก จึงเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นสากลว่าการสาธารณสุขเป็นวิชาชีพอย่างแน่นอน ประจักษ์พยานที่สำคัญในประเด็นนี้จะเห็นว่าองค์การอนามัยโลกได้ให้ความสำคัญกับการสาธารณสุขเป็นประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนทางด้านสุขภาพอนามัย ด้วยเล็งเห็นว่าการสาธารณสุขเป็นเรื่องการป้องกันและควบคุมในเบื้องต้นก่อนที่ความเสียหายที่เป็นผลกระทบภายหลังที่รุนแรงอาจจะเกิดขึ้นได้ หากมีการป้องกันที่ไม่เพียงพอ เช่นกรณีการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ หรือการระบาดของไข้หวัดนก หรือการระบาดของโรคซาร์ส เป็นต้น ต่างก็เป็นความสำคัญและความจำเป็นของศาสตร์ด้านการสาธารณสุขแทบทั้งสิ้น ในส่วนประเด็นอื่นๆนั้นหากยอมรับว่าการสาธารณสุขเป็นวิชาชีพจึงจำเป็นที่ต้องพัฒนาการกำหนดคุณสมบัติผู้ประกอบวิชาชีพ การจัดตั้งสภาวิชาชีพ การเป็นสมาชิกและการขึ้นทะเบียนสมาชิก รวมถึงเกณฑ์มาตรฐานและจรรยาบรรณที่ต้องพิจารณาในขั้นต่อไป โดยการกำหนดรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเหล่านี้จะต้องกำหนดไว้ในร่างกฎหมายอย่างครบถ้วนแล้ว

ดังนั้น การที่มีสภาวิชาชีพ หรือคณะกรรมการควบคุมวิชาชีพที่เข้มแข็ง (ไม่ช่วยเหลือกลุ่มตนเองจนขาดศรัทธาจากประชาชน) จะเป็นหลักประกันว่าประชาชนผู้รับบริการจะได้รับการให้บริการที่มีมาตรฐานและจริยธรรมวิชาชีพ การส่งเสริมให้มีการควบคุมมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรม จึงน่าจะเป็นผลดีมากกว่าปล่อยให้กระทำไปโดยขาดการควบคุมอย่างแท้จริง

๓. การก้าวล่วงหรือซ้ำซ้อนกับการประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอื่น

นิยามการประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขที่กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. ... ที่เสนอในคราวนี้คือ

“วิชาชีพการสาธารณสุข“ หมายความว่า วิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยโดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์และศิลปะแห่งการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรค และการอนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัวและชุมชน และให้หมายความรวมถึงกิจกรรมต่อเนื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องที่มีความมุ่งหมายดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ไม่หมายรวมถึงการประกอบโรคศิลปะตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ หรือการประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นๆ”

ดังนั้น การพิจารณาว่าการสาธารณสุขก้าวล่วงวิชาชีพด้านสุขภาพอื่นหรือไม่นั้นจำเป็นต้องยกนิยามของการประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอื่นๆที่บังคับใช้อยู่มาพิจารณาประกอบ ซึ่งจะยกสาระสำคัญในกฎหมายวิชาชีพด้านสุขภาพที่บังคับใช้อยู่ที่สำคัญๆ มาประกอบการพิจารณาดังนี้

ความหมายของวิชาชีพเวชกรรม ตาม พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๒๕

“วิชาชีพเวชกรรม” หมายความว่า วิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การผดุงครรภ์ การปรับสายตาด้วยเลนซ์สัมผัส การแทงเข็มหรือการฝังเข็มเพื่อบำบัดโรคหรือเพื่อระงับความรู้สึก และหมายความรวมถึงการกระทำทางศัลยกรรม การใช้รังสี การฉีดยาหรือสสาร การสอดใส่วัตถุใดๆ เข้าไปในร่างกาย ทั้งนี้ เพื่อการคุมกำเนิด การเสริมสวย หรือการบำรุงร่างกายด้วย”

คำนิยามของนิยามการพยาบาล ตามพ.ร.บ. วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. ๒๕๒๘

“..การกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการดูแลและการช่วยเหลือเมื่อเจ็บป่วย การฟื้นฟูสภาพ การป้องกันโรค และการส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้งการช่วยเหลือแพทย์กระทำการรักษาโรค ทั้งนี้ โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์และศิลปะการพยาบาล...”

คำนิยามการประกอบโรคศิลปะ ตาม พ.ร.บ. การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. ๒๕๔๒

“การประกอบโรคศิลปะ” หมายความว่า การประกอบวิชาชีพที่กระทำหรือมุ่งหมายจะกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การส่งเสริมและการฟื้นฟูสุขภาพ การผดุงครรภ์”

ที่ยกนิยามให้เห็นอย่างชัดๆ เพื่อยืนยันว่าการประกอบวิชาชีพตามนิยามในแต่ละกฎหมายวิชาชีพนั้น มีทั้งส่วนที่คล้ายกัน เหมือนกัน และเหลื่อมกันอยู่ทั้งสิ้น ยกตัวอย่างมาอธิบายเพียงคำเดียวเช่น คำว่า “การป้องกันโรค” คำเดียวมีอยู่ในนิยามของกฎหมายวิชาชีพทั้งสามฉบับที่ยกมา ซึ่งต่างก็เป็นกฎหมายวิชาชีพที่บังคับใช้อยู่แล้วทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่ามีการก้าวล่วงกันในกฎหมายวิชาชีพที่ใช้อยู่แล้ว แต่โดยความหมาย การป้องกันโรคนี้ เป็นไปตามลักษณะเฉพาะของแต่ละวิชาชีพที่มีความมุ่งหมายในการป้องกันโรค ดุจเดียวกับการทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพเป็นเป้าหมายของบุคคลผู้ทำการงานด้านสุขภาพทุกคน หากจะแบ่งแยกกันโดยสิ้นเชิงย่อมไม่ใช่ลักษณะของการร่วมมือในการทำงานที่ดี หากแต่ความแตกต่างกันนั้นอยู่ที่การใช้ความรู้ความสามารถอันเฉพาะเจาะจงตามแต่ละสาขาวิชาชีพ เพื่อให้เกิดการป้องกันโรค และส่งเสริมสุขภาพ ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของบุคคลทั้งในระดับปัจเจกและกลุ่มคนต่างหาก

หากจะกล่าวว่า คำนิยามของการประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขไปซ้ำซ้อน หรือก้าวล่วงกฎหมายอื่น ก็มีความจำเป็นต้องพิจารณานิยามตามกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อยู่ด้วยว่าซ้ำซ้อนในประเด็นไหนอย่างไร และเจตนารมณ์เป็นอย่างไร ไม่ควรจะเหมารวมว่าเนื้อความตรงกัน ในหลักการของการทำงานแล้ว ไปตีความหมายรวมว่าเป็นการก้าวล่วงและซ้ำซ้อนกัน โดยที่ไม่พิจารณาว่าศาสตร์แต่ละศาสตร์มีความแตกต่างกัน และมีความเฉพาะเจาะจงของแต่ละศาสตร์อยู่ในตัวอยู่แล้ว ประเด็นสำคัญในร่างกฎหมายวิชาชีพการสาธารณสุขเน้นสาระสำคัญว่าการลดความเจ็บป่วย และลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยเป็นประเด็นสำคัญในการถือเป็นการประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข การใช้องค์ความรู้ต่างๆในการลดความเจ็บป่วยและลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเป็นการป้องกัน การส่งเสริม และการควบคุมปัจจัยเสี่ยง จึงเป็นสาระสำคัญของการประกอบวิชาชีพการสาธารณสุข ซึ่งไม่ได้ซ้ำซ้อนกับการประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอื่นแต่อย่างใด

๔. ประโยชน์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในการอนุมัติให้มีพระราชบัญญัติวิชาชีพสาธารณสุข

๔.๑ ประชาชนได้รับบริการอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน

ประเด็นที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ย่อมเป็นประเด็นหลักดังที่กล่าวแล้วสิทธิของประชาชนคือการได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการและวิชาชีพซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญ หากมีกฎหมายวิชาชีพก็เป็นหลักประกันที่สำคัญว่าประชาชนจะได้รับบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานโดยผู้ประกอบวิชาชีพที่มีการควบคุมและพัฒนาความรู้ ความสามารถที่เป็นมาตรฐานและมีจรรยาบรรณและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ สุขภาพอนามัยของประชาชนจะดีขึ้นและลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

๔.๒ ความมีประสิทธิภาพและประหยัดทรัพยากรของประเทศชาติ

เป็นประโยชน์ต่อเนื่องหากเมื่อการจัดบริการสาธารณสุขเป็นไปตามคุณภาพและมาตรฐานแล้ว ประโยชน์ของรัฐก็จะเกิดขึ้นตามมา คือ การประหยัดงบประมาณและทรัพยากรที่ต้องตามแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ อาทิ ปัญหาสิ่งแวดล้อมของกรณีพื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุดที่ยังเป็นปัญหา เนื่องจากการจัดบริการสาธารณสุขที่ด้อยประสิทธิภาพและขาดการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอ จนต้องมาแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุดังเช่นในปัจจุบัน และผลดีหากมีการประกอบวิชาชีพสาธารณสุขที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานและจริยธรรม นั่นย่อมส่งผลดีต่อความมั่นคงทางสุขภาพ และลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศโดยการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนไทยโดยเฉพาะด้านการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

๔.๓ รัฐบาลได้รับความเชื่อถือในเรื่องการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับประชาชน และเป็นต้นแบบของการพัฒนาสุขภาพของประชาชนแบบบูรณาการให้กับอารยะประเทศ การได้รับความเชื่อถือทางด้านสาธารณสุขเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ที่ติดตามมาอย่างมากมายทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและอื่นๆ

๔.๔ เป็นการสร้างระบบและมาตรฐานด้านโครงสร้างและกลไกทางสุขภาพให้ครบวงจรและเกิดประสิทธิผลสูงสุด และก่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริงของการพัฒนาสุขภาพอนามัย การมีกฎหมายที่ออกมาเพื่อรับรองคุ้มครองให้ประชาชนได้มีความมั่นใจในบริการสาธารณสุขของผู้ประกอบวิชาชีพที่มีมาตรฐาน และมีจริยธรรม จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลในการพัฒนาสังคมและสุขภาพอนามัย ถือเป็นการสร้างหลักประกันทางสุขภาพให้กับประชาชนอย่างแท้จริงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐

๕. สรุป

● เหตุผลในการเสนอขอให้มีพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุขในครั้งนี้ คือ ๑) มีความสอดคล้องและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด ๓ ส่วนที่ ๙ มาตรา ๕๑ บัญญัติรับรองสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐของประชาชนผู้เป็นบุคคลทั่วไป และประชาชนเป็นผู้บุคคลผู้ยากไร้ เสมอกัน อย่างเหมาะสม และได้มาตรฐาน ซึ่งต้องเป็นไปอย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐอย่างเหมาะสม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและทันต่อเหตุการณ์ ตลอดจนผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

การได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานจากบุคลากรผู้ให้บริการในทุกระดับ จึงจำเป็น ต้องมีคุณลักษณะสำคัญสองประการ คือ การมีมาตรฐานและจริยธรรมวิชาชีพ บุคลากรที่เป็นผู้ได้รับการรับรองว่ามีคุณลักษณะดังกล่าว คือ ผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพตามกฎหมาย ประกอบด้วย เวชกรรม ทันต กรรม เภสัชกรรม พยาบาล การผดุงครรภ์ เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด และบุคลากรอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ ส่วนบุคลากรนอกเหนือจากนี้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในหน่วยบริการสาธารณสุขของรัฐยังไม่ถือว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพตามกฎหมาย แต่ให้ถือว่าปฏิบัติงานภายใต้การกำกับดูแลของผู้มีใบประกอบวิชาชีพ เช่น เจ้าหน้าที่ประจำสถานีอนามัยที่ปฏิบัติงานในการส่งเสริม ป้องกัน รักษาเบื้องต้น และฟื้นฟูสภาพต่อประชาชนในชุมชน บุคคลเหล่านี้กระทรวงสาธารณสุขได้ผลิตขึ้นเพื่อนำมาใช้งานช่วยเหลือและทดแทนการขาดกำลังคนผู้ประกอบวิชาชีพ เป็นผู้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด หรือแพทย์ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด จึงทำให้เกิดสภาวะขัดกันระหว่างพฤตินัยกับนิตินัยและเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาความเป็นวิชาชีพของบุคคลกลุ่มนี้ที่เรียกตัวเองว่า “หมออนามัย”

กล่าวคือบุคลากรผู้ปฏิบัติหน้าที่บริการสาธารณสุขโดยเฉพาะเวชปฏิบัติเบื้องต้นตามหน้าที่ในสถานีอนามัยถือว่าเป็นการปฏิบัติงานภายใต้ขอบเขตของวิชาชีพอื่นเฉพาะในทางนิตินัยเท่านั้น แต่ในทางพฤตินัยบุคลากรเหล่านั้นได้กระทำการอย่างอิสระภายใต้องค์ความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาและการฝึกปฏิบัติจากหลักสูตรของสถานศึกษาและใช้ศิลปะเฉพาะตัวโดยมิได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นแต่อย่างใด และในทางสังคมก็ถือว่าได้รับความไว้วางใจให้ปฏิบัติงานนี้ต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนานกว่า ๙๖ ปี ซึ่งอาจจะเป็นเช่นนี้ต่อไปจนกว่าจะมีแพทย์และบุคลากรอื่นอย่างเพียงพอ หากการดำเนินการเหล่านี้ต่ำกว่ามาตรฐานและขาดจริยธรรมวิชาชีพ แม้จะมีกฎระเบียบว่าอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ย่อมหมายความว่าประชาชนได้รับบริการที่ต่ำกว่าสิทธิที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาอย่างยาวนาน จึงน่าจะถึงเวลาที่สมควรที่จะคุ้มครองสิทธิของประชาชนในเรื่องนี้ ดังนั้น การส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคคลกลุ่มดังกล่าวเหล่านี้ได้มีฐานะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ เพื่อเป็นหลักประกันว่าได้ให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนอย่างมีมาตรฐานตามสิทธิที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งที่สมควรได้รับการพิจารณา

๒) เพื่อให้สิทธิดังกล่าวของประชาชนได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่ได้บัญญัติไว้ในหมวด ๕ แนวนโยบายแห่งรัฐ ส่วนที่ ๔ มาตรา ๘๐ (๒) โดยกำหนดให้รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบสุขภาพที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพอันนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของประชาชน รวมทั้งจัดและส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เอกชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพและการจัดบริการสาธารณสุข โดยผู้มีหน้าที่ให้บริการดังกล่าว ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรม ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย


๓) ปัจจุบันการปฏิบัติการให้บริการด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคยังไม่มีมาตรฐานวิชาชีพ และจริยธรรมแห่งวิชาชีพ รวมถึงมาตรฐานของงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งต้องเป็นที่ยอมรับของสังคมสาธารณะ และมีการตรากฎหมายรับรองเป็นการเฉพาะ ในขณะที่บริบทและสถานการณ์แวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูประบบสุขภาพ และการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาวะโลกร้อน และการเกิดโรคก็มีความรุนแรง โรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ ตลอดจนการดิ้นรนของประชาชนเพื่อซื้อสุขภาพดี ขณะที่สังคมและเศรษฐกิจเป็นลักษณะที่ไม่พอเพียง สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางสุขภาพทั้งสิ้น และยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

● สาระสำคัญของการมีกฎหมายในการควบคุมวิชาชีพ เน้นที่การมีมาตรฐานและจริยธรรม/จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ โดยให้สถาบันการศึกษาซึ่งเป็นผู้ผลิตและมีการพัฒนาองค์ความรู้อันเฉพาะเจาะจงนี้สำหรับการปฏิบัติงานป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพของกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข และ/หรือหมออนามัย จนสามารถระบุขอบเขต หรืออาณาจักรที่เป็นอิสระเชิงวิชาการ และบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาอบรม และมีความรู้ความสามารถจนถึงขั้นประยุกต์ใช้ความรู้ที่มีได้อย่างเหมาะสม หรือมีศิลปะในการทำงานนั้นได้ด้วยตนเอง โดยมิต้องอยู่ภายใต้การกำกับควบคุม หรือสั่งการจากบุคคลอื่น ซึ่งในปัจจุบันโดยพฤตินัยแล้วระบบได้ปล่อยให้บุคคลเหล่านี้กระทำโดยอิสระในการให้บริการอยู่แล้ว และอาจกล่าวได้ว่ามีการควบคุมจำกัด หากบุคคลเหล่านี้ไม่มีความเป็นวิชาชีพ ก็อาจหมายถึงการที่ประชาชนไม่ได้รับบริการที่มีมาตรฐานตามไปด้วย

ความคิดเห็น