สธ จัด14 หลักสูตร อัปศักยภาพ จนท ประจำ รพ สต

วิเคราะห์ข่าว สธ จัด14 หลักสูตร อัปศักยภาพ จนท ประจำ รพ สต ทั่วประเทศ 2010 /12/ 20


สธ.เร่งพัฒนา บุคลากรสาธารณสุข พร้อมจัดอบรมเจ้าหน้าที่ประจำ รพ.สต.14 หลักสูตร เพิ่มศักยภาพดูแลประชาชนในพื้นที่ได้เต็มที่ครบถ้วน เร่งทำเกณฑ์จัดกรอบอัตรากำลังดูแลประชาชน พยาบาล 1 คนต่อประชากร 5,000 คน ส่วนแพทย์ 1 คนดูแลประชากร 10,000 คน

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2554 นี้ สธ. มีแผนยกระดับสถานีอนามัย 7,750 แห่งทั่วประเทศ เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุกแห่ง หลังจากที่ในปีงบ 2553 ได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้ว 2,000 แห่ง และให้บริการประชาชนแล้ว

ครอบคลุม 5 ภารกิจหลัก ได้แก่

1. การรักษาพยาบาล

2. การส่งเสริมสุขภาพ

3. การป้องกันโรค

4. การฟื้นฟูสุขภาพผู้เจ็บป่วย

5. การคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภคทั้งเรื่อง อาหาร ยา เครื่องสำอาง

ตามนโยบายรัฐบาลและ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สธ. โดยตั้งเป้าให้ทุกจังหวัดพัฒนาให้แล้วเสร็จทุกแห่ง ภายในเดือน มี.ค.2554 นี้ โดยได้กำชับผู้ตรวจราชการทุกเขตขอให้ติดตามเรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษ

นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ในด้านการพัฒนาบุคลากรรองรับภารกิจบริการดังกล่าว

ในปีนี้ได้เพิ่มหลักสูตรอบรมใหม่อีก 4 หลักสูตร ได้แก่

1. การดูแลผู้ป่วยที่อยู่ระยะสุดท้ายชีวิต

2. การควบคุมโรค

3. การจัดบริการแพทย์ฉุกเฉินในชุมชน

4. และการรักษาโรคในชุมชน

จากเดิมในปี 2553 ได้จัดทำหลักสูตรพัฒนาแล้ว 11 หลักสูตร

ประกอบด้วยหลักสูตรพื้นฐาน 6 หลักสูตร ได้แก่

1. หลักสูตรการดูแลครอบครัว

2. การดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง

3. ทันตสุขภาพชุมชน

4. การส่งเสริมสุขภาพแนวใหม่เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ

5. การคุ้มครองผู้บริโภค

6. การบริหารจัดการองค์กร

หลักสูตรเฉพาะ 5 หลักสูตร ได้แก่

1. การฟื้นฟูผู้เจ็บป่วยในชุมชน

2. การดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น

3. การจัดบริการแพทย์แผนไทย

4. การให้บริการคำปรึกษา

5. การดูแลสุขภาพอนามัยวัยเจริญพันธุ์

นพ.ไพจิตร์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ สธ.ยังได้จัดทำเกณฑ์การพัฒนา รพ.สต.ให้มีมาตรฐานบริการประชาชนที่สูงขึ้น โดยกำหนดกรอบอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ดูแลประชาชนให้ใกล้ชิดมากขึ้น ดังนี้

กำหนดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 1 คนดูแลประชากรเฉลี่ย 1,250 คน

ให้มีพยาบาลวิชาชีพดูแลประชากร 1 ต่อ 5,000 คน

ส่วนแพทย์ดูแลประชากร 1 ต่อ 10,000 คน

โดยในปี 2554 นี้ สธ.จะพัฒนา รพ.สต.ให้ผ่านเกณฑ์โรงพยาบาล 3 ดี คือ มีบรรยากาศดี บริการดี และระบบบริหารจัดการดี ให้ได้ร้อยละ 50 เพื่อให้ประชาชนพึงพอใจยิ่งขึ้น

ผมวิเคราะห์ข่าวได้ว่า ถ้าจะทำได้ดังที่ปลัดฯพูด หมายความว่าประชากร 63 ล้านคน ควรมี เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 50400 คน จากที่ตอนนี้มีประมาณ 24000 คนที่ยังทำงานที่ รพ.สต. (ไม่ใช่ ที่ สสอ. หรือ สสจ.) และพยาบาล 12600 คน จากที่มีพยาบาลเทคนิค และพยาบาลวิชาชีพประมาณ 7000 คนที่ สอ.


การพัฒนาบุคลากรรองรับภารกิจบริการดังกล่าวนั้น

1. ทางกระทรวงได้จัดแนวทางการสนับสนุนภารกิจไว้หรือไม่ หรือเพิ่มงาน แต่เงินไปหาเอาเอง

2. ได้วิเคราะห์ประมาณงานหรือไม่ว่าถ้าเน้นงาน อีก 14 ด้านนี้ ภาระชั่วโมงทำงานให้มีประสิทธิภาพของ รพ.สต.แต่ละแห่งจะเป็นเท่าไหร่ คนที่ รพ.สต. จะต้องมีศักยภาพเท่าใด ซึ่งจะไปสะท้อนถึงค่าแรง และค่าตอบแทน

3. ความเสี่ยงจากการต้องรับผิดชอบในกรณีเกิดการเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เพราะตอนนี้ได้ก้าวเข้าไปดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของชีวิต และการแพทย์ฉุกเฉิน การรักษาโรคในชุมชนด้วย เพราะแต่เดิมการปฏิบัติงานที่ใช้ ใบประกอบวิชาชีพของ นพ.สสจ. นั้นคลุมเฉพาะเจ้าหน้าที่ให้บริการในหน่วยบริการเท่านั้น

4. ได้มีการเจรจากับงอค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรื่องการทำงานร่วมกัน และการสนับสนุนงบประมาณไปในแนวทางอย่างไรบ้าง เช่นสนับสนุนแบบ Itemized or Global Capitation อย่างต่อเนื่อง

5. ได้ชี้แจงให้คณะกรรมากรพัฒนา รพ.สต.แต่ละแห่งให้ทราบถึงความคาดหวัง และภารกิจดังกล่าวหรือไม่ เพราะความสำเร็จน่าจะมาจากการร่วมมือของภาคประชาชน ทั้งกำลังคน และกำลังเงิน

6. จะไปหาเจ้าหน้าที่มาเพิ่มในระบบได้อย่างไร เป็นลูกจ้างชั่วคราว หรือสามารถบริหารจัดการให้มีคนทำงานได้ตามสัดส่วนดังกล่าวโดยภาคนอกราชการ


ผมมองว่าเรื่องภารกิจดังกล่าวเป็นเรื่องสร้างสรรค์ บวกกับงานของ ชมรมที่กำลังจะพัฒนา PP CUP ร่วมกับ รพ.สต. เพราะในภารกิจ

1. การดูแลผู้ป่วยที่อยู่ระยะสุดท้ายชีวิต

2. การควบคุมโรค

3. การจัดบริการแพทย์ฉุกเฉินในชุมชน

4. การรักษาโรคในชุมชน

5. การดูแลครอบครัว

6. การดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง

7. ทันตสุขภาพชุมชน

8. การส่งเสริมสุขภาพแนวใหม่เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ

9. การคุ้มครองผู้บริโภค

10. การบริหารจัดการองค์กร

11. การฟื้นฟูผู้เจ็บป่วยในชุมชน

12. การดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น

13. การจัดบริการแพทย์แผนไทย

14. การให้บริการคำปรึกษา

15. การดูแลสุขภาพอนามัยวัยเจริญพันธุ์

นั้นเราจะพบว่า 12 11 8 7 6 5 2 นั้นเป็นเรื่องของ PP Area base คาบเกี่ยวกับสวัสดิการสังคม ชมรมฯ จะต้องหาขอบเขตงาน และกำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อให้เป็นเรื่องชุมชนดูแลชุมชน โดย อปท. และ สปสช. รวมถึงหน่วยงานกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องกับ สวัสดิการสังคม ต้องเข้ามาจับมือ ลงแรง ลงสมอง ลงเงินกัน

และต้องคิดกลไกการบริหารจัดการที่เป็นประชาธิปไตย มีส่วนร่วมของประชาชน มีประสิทธิภาพ และสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วิถีชีวิต เศรษฐกิจท้องถิ่น สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และ ทางวัฒนธรรม และสิ่งสำคัญคือโครงสร้างอายุประชากรในพื้นที่ และประชากรที่สามารถช่วยงานดังกล่าวได้ เช่นอดีตหมออนามัย ครูในพื้นที่ แพทย์พยาบาลเกษียณอายุ

ในการประชุมที่ศรีสะเกษนั้น น่าจะได้ยกประเด็นนี้ไปไว้ในเรื่อง บทบาทของ PP Area Manager ต่องานของ รพ.สต.

และจะได้ให้ปลัดฯ สปสช. ชี้แจง

และนี่เป็นตัวเลขที่สำรวจเมื่อปี 2552 ถึงอัตรากำลังที่สถานีอนามัยทั่วประเทศ

นักวิชาการสาธารณสุข 13,101  เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข 1,219  เจ้าพนักงานสาธารณสุข 8,784 พยาบาลเทคนิค 75  พยาบาลวิชาชีพ   6,899

ความคิดเห็น